UNCITRAL คืออะไร ทำไมต้องเป็น UNCITRAL
เมื่อเปิดคำค้นหาใน google เกี่ยวกับUNCITRAL ก็มักจะเจอบทความที่เป็นวิชาการสะส่วนใหญ่ ซึ่งอ่านแล้วอาจจะเข้าใจยากไปสักนิด และหากจะให้อธิบายง่ายๆว่าUNCITRAL คืออะไร ก็คงตอบได้ว่าUNCITRAL เป็นชื่อย่อของ United Nations Commission on International Trade Law หรือเรียกเป็นชื่อภาษาไทยว่า คณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ เป็นองค์กรของสหประชาชาติ โดยองค์กรถูกตั้งขึ้นมาเพราะมีแนวคิดว่า ‘กฎหมายการค้าของแต่ละประเทศ สร้างอุปสรรคในการขับเคลื่อนการค้าระดับระหว่างประเทศ ซึ่งสมควรลดและกำจัดอุปสรรคเหล่านั้นออกไป โดยการสร้างกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ’
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
UNCITRAL(อัลซิทร็อล) ประกอบไปด้วยกรรมาธิการจากประเทศถึง 60 ประเทศ ซึ่งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้เลือกตั้งขึ้นมา โดยพิจารณาถึงความหลากหลายของภูมิภาค ระบบเศรษฐกิจ และระบบกฎหมาย ซึ่งกรรมาธิการจะมีวาระในการดำรงตำแหน่งครั้งละ 6 ปี ผลงานหนึ่งของUNCITRAL (อัลซิทร็อล) ก็คือ การยกร่าง “กฎหมายแม่แบบอัลซิทร็อลว่าด้วยอนุญาโตตุลาการพาณิชย์ระหว่างประเทศ (UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration)” สำหรับใช้ระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งนี้ทางสถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC เอง ก็ใช้กฎหมายUNCITRAL (อัลซิทร็อล) ด้วยเช่นกัน
หากอธิบายให้ลึกลงไปในรายละเอียดUNCITRAL (อัลซิทร็อล) จะมีการตั้งคณะทำงาน (Working Group) เพื่อพิจารณาในเรื่องต่างๆ รวม 6 กลุ่มด้วยกัน อันได้แก่
- 1.คณะทำงานว่าด้วยวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย
- 2.คณะทำงานว่าด้วยการระงับข้อพิพาท (เดิมพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการและการไกล่เกลี่ย)
- 3.คณะทำงานว่าด้วยการระงับข้อพิพาททางออนไลน์ (ปัจจุบันได้มีการยกเลิกคณะทำงานนี้ไปแล้ว เนื่องจากสมาชิกประเทศมีความเห็นไม่ลงรอยกัน โดยไม่สามารถประนีประนอมกันได้ หากพิจารณาหัวข้อนี้ต่อไปก็จะเป็นการสิ้นเปลืองเวลาและทรัพยากร ที่ประชุมจึงเห็นควรให้ยกเลิกคณะทำงานนี้ไป)
- 4.คณะทำงานว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
- 5.คณะทำงานว่าด้วยกฎหมายล้มละลาย
- 6.คณะทำงานว่าด้วยสิทธิในหลักประกัน
ทั้งนี้ในแต่ละปีUNCITRAL (อัลซิทร็อล) จะมีการจัดให้มีการประชุมหลายครั้ง ทั้งการประชุมใหญ่และการประชุมคณะทำงาน ซึ่งสถานที่ประชุมหลักๆมี 2 แห่ง คือ 1. สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และ 2. สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าUNCITRAL เป็นองค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศให้มีความเป็นเอกภาพ สำหรับเครื่องมือที่UNCITRAL นำมาใช้ในการสร้างกฎเกณฑ์ให้เป็นเอกภาพนั้น โดยหลักๆจะปรากฎในหนังสือสำคัญ 2 รูปแบบ คือ 1 รูปแบบอนุสัญญา ( Convention) และ 2. รูปแบบ Model Laws
ซึ่ง Model Laws มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ทั้ง “กฎหมายต้นแบบ” หรือ “กฎหมายแม่แบบ” Model Laws ไม่เชิงว่าจะเป็นการสร้างผลผูกพันในทางกฎหมายเหมือนอนุสัญญา แต่ Model Laws มีลักษณะในเชิงการกำหนดแนวทางให้ประเทศต่างๆ นำไปบัญญัติเป็นกฎหมายภายในซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนบทบัญญัติให้มีความสอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมและสังคมในแต่ละประเทศได้ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายภายในให้เหมือนกับ Model Laws ทุกประการ
UNCITRAL (อัลซิทร็อล) กับการอนุญาโตตุลาการ
ในการใช้การระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศภายใต้กฎหมายแม่แบบของUNCITRAL (อัลซิทร็อล) โดยใช้หลักกฎหมายอนุญาโตตุลาการพาณิชย์ระหว่างประเทศ (UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration) นั้น อนุญาโตตุลาการต้องชี้ขาดข้อพิพาทตามหลักกฎหมายที่คู่สัญญาได้เลือกใช้กับข้อพิพาท ในกรณีที่ไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น และในกรณีที่มีการเลือกกฎหมายของรัฐใดรัฐหนึ่ง ก็หมายถึงการอ้างกฎหมายสาร กฎหมายบัญญัติของรัฐนั้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการขัดแย้งแห่งกฎหมาย และในกรณีที่คู่กฎหมายไม่ได้กำหนดกฎหมายที่ใช้บังคับข้อพิพาทไว้ ให้อนุญาโตตุลาการปรับใช้กฎหมายที่เหมาะสมโดยใช้หลักการกฎหมายขัดกัน อนุญาโตตุลาการจะใช้หลักสุจริตและความเป็นธรรมในการชี้ขาดข้อพิพาทในการอนุญาโตตุลาการ หรือต้องใช้กฎหมายได้เพียงกรณีที่คู่สัญญาได้ให้อำนาจไว้โดยแจ้งชัดเท่านั้น
และในทุกกรณีอนุญาโตตุลาการจะต้องพิจารณาข้อสัญญาและต้องพิจารณาถึงธรรมเนียมปฏิบัติทางการค้าในการทำธุรกรรมด้วย
UNCITRAL Model Law
จะเป็นตัวกำหนดในเรื่องของความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกันเป็นหลักในการปฏิบัติต่อคู่สัญญาในการอนุญาโตตุลาการ ให้ความอิสระและเพิ่มความเป็นระเบียบวินัยสำหรับอนุญาโตตุลาการ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
- 1. UNCITRALให้อิสระกับคู่สัญญาอนุญาโตตุลาการในการเลือกกฎหมายเพื่อปรับใช้กับการระงับข้อพิพาท โดยเลือกวิธีการที่สะดวก เป็นธรรมและเกิดประโยชน์แก่คู่สัญญามากที่สุด
- 2.กรณีที่ไม่มีการตกลงกันในสัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างคู่สัญญา คู่สัญญาสามารถดำเนินกระบวรการการระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการต่อไปได้จนเสร็จสิ้น
- 3.การกำหนดขอบเขตและบทบาทของกฎหมายภายในประเทศ เพื่อให้อิสระแก่การอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศ เพราะหากคู่กรณีเลือกใช้การระงับข้อพิพาททางการอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศแล้วเกิดความล่าช้าในการพิจารณาคดีขึ้น คู่กรณีก็จะได้รับความเป็นธรรมแก่ข้อพิพาทอนุญาโตตุลาการนั้นด้วย
- 4.หลักสุจริตและเป็นธรรม ให้กำหนดบทบัญญัติและหลักการต่างๆเพื่อใช้บังคับและให้เกิดความยุติธรรมและการพิจารณาโดยชอบต่อคู่สัญญาอนุญาโตตุลาการ
- 5.การจำกัดอำนาจแทรกแซงของศาลภายในประเทศ
- 6.การบังคับและยอมรับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ กำหนดให้ประเทศที่ได้รับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ภายใต้กฎเกณฑ์ของอนุสัญญากรุงนิวยอร์ก 1958 โดยไม่ต้องคำนึงว่าประเทศที่ทำคำชี้ขาดนั้นจะเป็นประเทศเดียวกับประเทศทำสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือไม่
จากที่กล่าวมาทั้งหมด สรุปได้ว่าUNCITRAL (อัลซิทร็อล) ก็คือกลุ่มคนที่เป็นตัวแทนของแต่ละประเทศ มารวมตัวกันเพื่อช่วยลดปัญหาและขจัดอุปสรรคในการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศ โดยการสร้างกฎหมายการค้าระหว่างประเทศให้มีความเป็นธรรม เป็นกลาง เป็นสากลที่สามารถใช้ร่วมกันได้ในทุกประเทศ และยังเป็นการอำนวยความสะดวกในการค้าระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศนั่นเอง