สัญญาซื้อขายระหว่างประเทศกับข้อได้เปรียบหากเข้าภาคี CISG
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การซื้อขายบนโลกออนไลน์นอกจากจะช่วยให้ซื้อขายได้ตลอดเวลาแล้ว ยังสามารถสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้ง่ายดาย ซึ่งเป็นผลดีต่อหลายฝ่ายอย่างมาก แล้วเคยสงสัยหรือไม่ว่า? ถ้าองค์กรต้องการซื้อสินค้ากับประเทศอื่นเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบหรือจัดจำหน่ายจะต้องทำอย่างไร? มีความซับซ้อนแค่ไหนกัน และทำไมเวลากล่าวถึงสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ ถึงต้องมีเรื่องการเข้าร่วมอนุสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศหรือ CISG
สัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ
สัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ เป็นสัญญาที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีความประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคล โดยต้องประกอบด้วยผู้ซื้อและผู้ขายที่ตกลงว่าจะใช้ราคาสินทรัพย์นั้นให้แก่ผู้ขาย ซึ่งแตกต่างจากสัญญาซื้อขายทั่วไปหรือสัญญาซื้อขายเฉพาะอย่าง คือ สัญญาซื้อขายระหว่างประเทศจะต้องมีการขนส่งสินค้าจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง คู่สัญญาจะต้องอาศัยอยู่คนละประเทศ ทำให้สัญญาซื้อขายระหว่างประเทศมีความซับซ้อนและมีหลายสัญญาอื่นๆ เกี่ยวข้องด้วย
ดังนั้น การทำสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศนั้นมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดข้อพิพาทต่างๆ ง่าย เพราะการขนส่งสินค้าจากพรมแดนหนึ่งไปยังอีกประเทศ จะต้องอยู่ภายใต้ข้อกฎหมายหลายฉบับ และรวมถึงปัญหาต่างๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ จึงทำให้การทำสัญญาระหว่างประเทศจะต้องมีสัญญาอื่นๆ คาบเกี่ยวและตามมา เช่นสัญญาประกันภัย สัญญารับขน การชำระเงินระหว่างประเทศ สัญญาแลกเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยน ข้อกำหนดของรัฐบาล วิธีการระงับข้อพิพาท และกฎหมายบังคับใช้เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ระหว่างการซื้อขายระหว่างประเทศ
- Force Majeure หรือเหตุสุดวิสัย คือ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ ภัยพิบัติตามธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์และไม่สามารถคาดการณ์ก่อนล่วงหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว พายุ น้ำท่วมใหญ่ การแพร่ระบาดของเชื้อโรค การประท้วง สงคราม การจลาจล ตลอดจนการเปลี่ยนทางกฎหมาย ฯลฯ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ และเมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นคือ หลายครั้งที่คู่สัญญาไม่สามารถเอาผิดหรือดำเนินการต่อได้ จึงทำให้การระบุเหตุสุดวิสัยลงไปในสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศจะช่วยเป็นข้อยกเว้นในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาได้และไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญา
- ภาระความเสี่ยงภัย ส่วนมากแล้วในสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศจะมีการกำหนดประเด็นเรื่องเหล่านี้ไว้ว่าจะให้โอนไปยังอีกฝ่ายเมื่อใดและอย่างไร เพราะในระหว่างจัดส่งสินค้า มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเข้ามาควบคุมดูแลสินค้า ซึ่งในระหว่างนั้นอาจเกิดภัยพิบัติ (Force Majeure) หรือการสูญหายหรือเสียของสินค้าที่เกิดขึ้นภายหลังความเสี่ยงภัยได้ตกไปยังผู้ซื้อแล้ว ไม่ทำให้ผู้ซื้อพ้นความรับผิดในการชำระราคา ยกเว้นเกิดจากความผิดของผู้ขาย การส่งมอบสินค้าหากไม่ได้กำหนดสถานที่ส่งมอบโดยเฉพาะความเสี่ยงภัยจะตกอยู่กับผู้ซื้อที่ได้รับมอบแก่ผู้ขนส่งรายแรก ในกรณีทำสัญญาซื้อขายระหว่างขนส่ง ความเสี่ยงภัยก็จะนับเป็นของผู้ซื้อนับตั้งแต่ทำสัญญา และกรณีอื่นๆ
- กฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากมีหลายผู้เกี่ยวข้องแล้ว การขนส่งยังทำให้อยู่ภายใต้ข้อบังคับกฎหมายหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายภายในประเทศผู้ซื้อและผู้ขาย กฎหมายระหว่างประเทศ ภาษากฎหมายของแต่ละประเทศ ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิธีปฏิบัติทางการค้าระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ตกลงเป็นภาคีหรือให้สัตยาบันในอนุสัญญาต่างๆ ทำให้เมื่อเกิดข้อพิพาทหรือความขัดแย้งขึ้นในประเทศไทย กฎหมายและกฎเกณฑ์ที่นำมาพิจารณาจะเป็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พรบ.การรับขนของทางทะเล พรบ.การรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ พรบ.อนุญาโตตุลาการ พรบ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา ฯลฯ ซึ่งอาจมีความขัดแย้งและไม่สะดวกแก่คู่สัญญาต่างชาติได้ ดังนั้น การเข้าร่วมอนุสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศหรือ CISG สามารถส่งผลดีต่อประเทศไทยได้มากกว่า
CISG อนุสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ
อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ (United Nations Convention on Contracts for the International Sale of Goods: CISG) เป็นอนุสัญญาที่ต้องการสร้างกรอบกฎหมายการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวและได้รับการยอมรับมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 และมีผลบังคับใช้เมื่อปี ค.ศ. 1988 ในปัจจุบันมีประเทศภาคีสมาชิกกว่า 94 ประเทศ โดยเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้าระหว่างประเทศ เพราะจะกำหนดระบบกฎหมายที่เป็นธรรม เป็นเอกภาพ และเป็นสากลขึ้น ทำให้เกิดความแน่นอนในการแลกเปลี่ยนเชิงพาณิชย์และลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมลง
แม้ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้เข้าร่วมภาคี CISG ก็ตาม แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ทำให้การซื้อขายระหว่างประเทศง่ายขึ้น หากประเทศไทยเข้าร่วมภาคีในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับบทบาทและมาตรฐานของไทยในเวทีระหว่างประเทศได้ เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและผู้ประกอบการไทยได้รับผลประโยชน์ทั้งโอกาสในการเจรจากับประเทศที่ไม่คุ้นเคย และความเชื่อมั่นจากนานาประเทศ ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ อีกทั้งยังช่วยพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพด้านกฎหมายของไทยได้เป็นอย่างดี ในการเข้าเป็นภาคี CISG นั้นสามารถดำเนินการได้ผ่านตัวกฎหมายไทยให้รองรับพันธกิจของ CISG และดำเนินกระบวนการภายในตามรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จก่อนเข้าเป็นภาคีด้วยวิธีการภาคยานุวัติ (Accession) นั่นเอง
สุดท้ายนี้ แม้เรายังไม่ได้เข้าร่วมภาคีก็ตาม แต่อีกหนึ่งวิธีการที่เพิ่มความมั่นใจให้คู่สัญญาต่างชาติ คือ การเลือกใช้วิธีระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาล ทั้งการประนอมข้อพิพาท การอนุญาโตตุลาการ เพียงใส่ข้อสัญญาการประนอมข้อพิพาทหรือข้อสัญญาการอนุญาโตตุลาการที่มอบข้อพิพาทให้สถาบันอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ดำเนินการ ระงับข้อพิพาทเหล่านั้นได้ ในส่วนของวิธีการระงับข้อพิพาทภายในเอกสารสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ สำหรับใครที่ดาวน์โหลดสัญญาซื้อขายมาก็สามารถเพิ่มเข้าไปได้ เท่านั้นก็สามารถเพิ่มความมั่นใจคู่สัญญาต่างชาติได้
เกี่ยวกับเรา
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ที่ อีเมล [email protected] หรือ โทร +66(0)2018 1615