กฎหมายระหว่างประเทศคืออะไร แบ่งออกเป็นกี่สาขาสำคัญ
ในแต่ละประเทศย่อมมีข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อกำหนดระเบียบในการอยู่ร่วมกันและสร้างความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย ทั้งกฎหมายมหาชนที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน กฎหมายเอกชนที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชนด้วยกันเอง ซึ่งอาจมีทั้งข้อที่เหมือนหรือแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเทศหรือเขตปกครองนั้นๆ อย่างไรก็ตามหากเป็น “กฎหมายระหว่างประเทศ” ประเทศต่างๆ ต้องมีความตกลงร่วมกัน หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วกฎหมายระหว่างประเทศคืออะไร เป็นแบบไหน แล้วแบ่งออกเป็นกี่สาขา
บทความนี้ รวบรวมสรุปกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงความหมาย ลักษณะสำคัญ และประเภทของกฎหมายระหว่างประเทศที่ควรทราบมาให้แล้ว
กฎหมายระหว่างประเทศคืออะไร
กฎหมายระหว่างประเทศ คือ ชุดของกฎเกณฑ์และหลักการที่ควบคุมความสัมพันธ์และการปฏิบัติระหว่างรัฐอธิปไตย องค์กรระหว่างประเทศ และบุคคล โดยกฎหมายนี้ครอบคลุมประเด็นสำคัญต่างๆ มากมาย ตั้งแต่การค้า สิทธิมนุษยชน การทูต การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงอาชญากรรมสงคราม ซึ่งมีองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เช่น สหประชาชาติ (United Nation) และองค์การการค้าโลก (WTO) ทำหน้าที่กำกับดูแลประเด็นกฎหมายเหล่านี้
เมื่อกล่าวถึงลักษณะของกฎหมายระหว่างประเทศ จะมีหลักการดำเนินการบนพื้นฐานของความยินยอมจากประเทศที่เข้าร่วม เนื่องจากไม่มีองค์กรปกครองกลางที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายโดยตรง แม้กฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) จะเป็นเอกสารสำคัญที่อธิบายถึงกฎหมายระหว่างประเทศ แต่องค์การสหประชาชาติเองก็ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ได้โดยตรง ต่างจากรัฐอธิปไตยที่บังคับใช้กฎหมายภายในประเทศของตน
แม้จะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศโดยตรง แต่สนธิสัญญาและความเป็นไปได้ของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ปฏิบัติตามกฎหมายนั่นเอง
หนังสือกฎหมายระหว่างประเทศ 3 ประเภท
ปัจจุบัน กฎหมายระหว่างประเทศสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายที่แตกต่างกันไป ได้แก่
1. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง (Public International Law)
ข้อกฎหมายที่ควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ เช่น ในข้อพิพาทเรื่องดินแดน อาณาเขต การทูต และกรณีพิพาทระหว่างประเทศ รวมไปถึงการทำสนธิสัญญา และการทำสงคราม
2. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (Private International Law)
กฎเกณฑ์ข้อบังคับเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของประชาชนพลเมือง หรือเอกชนระหว่างประเทศ และเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ถือว่าเป็นพลเมืองของรัฐในทางแพ่ง ทั้งในการสมรส การหย่า การได้สัญชาติ หรือสูญเสียสัญชาติ คนต่างด้าว รวมไปถึงทรัพย์สินและบุคคลระหว่างประเทศ
3. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา (Criminal International Law)
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความประพฤติผิดทางอาญาของเอกชน เช่น การที่บุคคลในประเทศหนึ่งทำผิดกฎหมายอาญา แล้วหลบหนีไปอีกประเทศหนึ่ง หรือกระทำผิดต่อเนื่องกันในดินแดนหลายประเทศ ซึ่งกฎหมายข้อนี้จะกำหนดกระบวนพิจารณา และการดำเนินการในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน รวมไปถึงขอบเขตกฎหมายที่ใช้ในการพิพากษา
กฎหมายระหว่างประเทศเกิดขึ้นจากไหน?
ตามข้อกฎหมายมาตรา 38 ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (Statute of the International Court of Justice) ข้อกฎหมายระหว่างประเทศเกิดขึ้นจากแหล่งที่มา 4 ประการ ดังนี้
1. อนุสัญญาและสนธิสัญญา
สนธิสัญญาเป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันระหว่างประเทศ กำหนดสิทธิและหน้าที่ของประเทศที่เข้าร่วม โดยการใช้อนุสัญญาระหว่างประเทศได้รับการรับรองในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 โดยรัฐอธิปไตยใช้สนธิสัญญาเพื่อร่วมมือกันในประเด็นต่างๆ เช่น การป้องกันทางทหาร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการค้า
2. กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ
กฎหมายจารีตประเพณีเกิดจากรูปแบบพฤติกรรมของประเทศต่างๆ ที่ปฏิบัติตามแนวทางบางอย่างเป็นระยะเวลาหนึ่งด้วยความรู้สึกถึงพันธะทางกฎหมาย จนกลายเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ
3. หลักกฎหมายทั่วไป
หลักกฎหมายทั่วไป คือ แง่มุมของกฎหมายจารีตประเพณีที่ใช้ร่วมกันในประเทศส่วนใหญ่ของโลก เนื่องจากหลักการพื้นฐานเหล่านี้เป็นที่ยอมรับร่วมกันระหว่างประเทศส่วนใหญ่ จึงถูกนำมาใช้ในขอบเขตของกฎหมายระหว่างประเทศด้วยนั่นเอง
4. คำพิพากษาของศาลและบทความทางวิชาการ
ในบางกรณีที่ไม่พบกฎเกณฑ์ชัดเจนในกฎหมายระหว่างประเทศ คำพิพากษาและบทความทางวิชาการอาจมีบทบาทในการตัดสินคดี เช่น ศาลอาญาระหว่างประเทศอาจอ้างอิงคำพิพากษาของประเทศที่เกี่ยวข้อง
เมื่อมีข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทระหว่างประเทศเกิดขึ้น ทางออกส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นการขึ้นศาล ซึ่งแม้จะสามารถหาข้อยุติหรือข้อตัดสินได้อย่างเป็นกลาง แต่ก็อาจใช้เวลาและงบประมาณค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการดำเนินงานหรือติดต่อกับพันธมิตรระหว่างประเทศ ดังนั้น การระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศที่เป็นที่นิยมทั่วโลกอย่างการอนุญาโตตุลาการจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ควรนำไปพิจารณา
การอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
การอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (International Arbitration) คือ กระบวนการระงับข้อพิพาทที่คู่กรณีตกลงกันให้บุคคลที่สามที่เป็นกลาง (Arbitrator) ทำหน้าที่ตัดสินข้อพิพาท โดยคำตัดสินมีผลผูกพันและสามารถบังคับใช้ได้ทางกฎหมายในเกือบทุกประเทศทั่วโลก ส่งผลให้การอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเป็นกลไกสำคัญในการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งมีข้อดีหลายประการ เช่น
- ความรวดเร็ว: กระบวนการมักเร็วกว่าเนื่องจากมีการจำกัดการอุทธรณ์ เมื่อเทียบกับขั้นตอนในชั้นศาล
- ประหยัดค่าใช้จ่าย: อาจมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการดำเนินคดีในศาล
- คุณภาพของการตัดสิน: อนุญาโตตุลาการมักเป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้นๆ จึงสามารถตัดสินข้อพิพาทได้ดีกว่า
- ความยืดหยุ่น: คู่กรณีทั้งสองฝ่ายมีส่วนร่วมในการกำหนดวันเวลา สถานที่ และกระบวนการพิจารณา ซึ่งตอบโจทย์ในกรณีที่คู่พิพาทมีเวลาไม่ตรงกัน หรืออาศัยอยู่คนละประเทศ ซึ่งมี Time Zone ต่างกัน
- การรักษาความลับ: ในการขึ้นศาล คู่พิพาทจำเป็นต้องเปิดเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ รวมถึงความลับทางธุรกิจด้วย แต่การอนุญาโตตุลาการสามารถรักษาความลับเหล่านี้ได้ ซึ่งช่วยรักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจได้อีกด้วย
- ความเป็นกลาง: หลีกเลี่ยงความได้เปรียบของ “ศาลบ้านเกิด” สำหรับคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ในโลกที่มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ความเข้าใจในกฎหมายระหว่างประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างความร่วมมือ แก้ไขข้อพิพาท และรับมือกับความท้าทายระดับโลกร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการค้าระหว่างประเทศ หรือการรักษาสันติภาพและความมั่นคง และการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับการระงับข้อพิพาทต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศ
เกี่ยวกับ THAC
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ทาง
อีเมล: [email protected]