
หมายศาลคืออะไร ทำความเข้าใจประเภทและวิธีปฏิบัติเมื่อได้รับหมายศาล

เมื่อได้รับซองเอกสารที่มีตราประทับของศาลหรือ “หมายศาล” หลายคนมักเกิดความตื่นตระหนกและวิตกกังวล เพราะกลัวว่าจะถูกฟ้องร้องหรือถูกดำเนินคดี แต่ความจริงแล้วหมายศาลมีหลากหลายประเภท และไม่ได้เป็นเรื่องที่ร้ายแรงเสมอไป
ในบทความนี้ THAC จะมาช่วยอธิบายเกี่ยวกับหมายศาลว่ามีกี่รูปแบบ มีความสำคัญอย่างไร และควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อได้รับหมายศาล
หมายศาลคืออะไร
หมายศาล คือ เอกสารทางกฎหมายที่ออกโดยศาลเพื่อแจ้งให้บุคคลทราบถึงการดำเนินกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตน ทั้งนี้ หมายศาลไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นเพียงเอกสารที่ศาลเชิญให้บุคคลไปศาล เพื่อให้ความจริงและความยุติธรรมแก่คู่ความ
หมายศาลมีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และลักษณะของคดี ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา ซึ่งแต่ละประเภทมีผลทางกฎหมายและวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน การทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของหมายศาลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ความสำคัญของหมายศาล
ความสำคัญของหมายศาลมีหลายประการ ดังนี้
1. การเชิญให้ไปศาล – หมายศาลเป็นเอกสารที่ใช้เชิญบุคคลไปศาลเพื่อเป็นพยาน จำเลย หรือคู่ความในคดีแพ่งหรืออาญา
2. การรักษาสิทธิ – ในคดีแพ่ง หมายศาลเป็นโอกาสให้จำเลยได้เตรียมคำให้การแก้คดีและยื่นภายในเวลาที่กำหนด หากไม่ทำเช่นนั้น อาจทำให้สูญเสียสิทธิในการต่อสู้คดี
3. การให้พยาน – หมายศาลที่เรียกให้ไปเป็นพยาน ซึ่งเป็นการเรียกพยานบุคคลในการให้ข้อมูลแก่ศาล เพื่อประกอบการพิจารณาคดี
4. การบังคับคดี – หมายศาลยังใช้ในการบังคับคดีหลังการพิพากษา เช่น การยึดทรัพย์ เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา
5. การรักษากฎหมาย – หมายศาลช่วยรักษากฎหมายและความยุติธรรม โดยการทำให้กระบวนการทางกฎหมายดำเนินไปอย่างถูกต้องและเป็นระเบียบ
ประเภทของหมายศาลในคดีแพ่ง
เมื่อเกิดข้อพิพาท การผิดสัญญาข้อตกลง หรือเป็น “คดีแพ่ง” โดยทั่วไปสามารถแบ่งลักษณะของหมายศาลฟ้องคดีออกเป็น 5 รูปแบบ ได้แก่
1. หมายเรียกคดีแพ่งสามัญ
เมื่อถูกหมายศาลฟ้องคดีแพ่งสามัญ หมายความว่าคุณตกเป็นจำเลยในคดีแพ่ง โดยมีหน้าที่ต้องทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหมาย
กรณีที่ไม่ได้เซ็นรับหมายและมีการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนา จะถือว่าได้รับหมายเมื่อพ้น 15 วันนับแต่วันปิดหมาย ดังนั้น จำเลยจึงมีเวลารวมทั้งสิ้น 30 วันนับแต่วันปิดหมายในการยื่นคำให้การ
ส่วนผลกระทบจากการไม่รับหมายศาลหรือไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด คือ หมดสิทธิในการต่อสู้คดี ซึ่งจะทำให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ โดยศาลจะพิจารณาและตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว
2. หมายเรียกคดีมโนสาเร่หรือคดีไม่มีข้อยุ่งยาก
คดีมโนสาเร่ คือคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 40,000 บาท หรือคดีฟ้องขับไล่ที่มีค่าเช่าไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท ส่วนคดีไม่มีข้อยุ่งยาก คือคดีที่เกี่ยวกับตั๋วเงินหรือสัญญาที่ชัดเจน เมื่อได้รับหมายประเภทนี้ จะมีวันนัดระบุในหมายเพื่อการไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยาน หากต้องการประนีประนอมก็จำเป็นต้องไปที่ศาลตามกำหนดนัด หากต้องการต่อสู้คดี ต้องยื่นคำให้การภายในวันนัดพิจารณาครั้งแรก โดยการไม่ไปศาลในวันนัดพิจารณาอาจทำให้ถูกพิจารณาว่าขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณา ซึ่งมีผลให้เป็นฝ่ายแพ้คดี
3. หมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ
เมื่อได้รับหมายประเภทนี้ คุณมีหน้าที่ต้องจัดส่งเอกสารหรือวัตถุพยานไปยังศาลตามรายการที่ระบุในหมาย หากขัดขืนอาจมีความผิดฐานขัดขืนหมายศาลซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากไม่มีเอกสารหรือวัตถุตามที่ระบุในหมาย ควรทำหนังสือชี้แจงไปยังศาลเพื่อให้ศาลและผู้ขอหมายรับทราบ
4. หมายเรียกพยานบุคคล
เมื่อได้รับหมายเรียกพยานบุคคล คุณต้องไปศาลตามวันและเวลาที่กำหนด เพื่อเบิกความเป็นพยาน หากไม่ไปศาล อาจถูกออกหมายจับเพื่อนำตัวมากักขังและอาจถูกฟ้องคดี แต่ในกรณีที่มีเหตุขัดข้องไม่สามารถไปศาลได้ตามกำหนด ก็ควรทำหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลก่อนถึงวันหมายนัด
5. หมายบังคับคดี
หมายบังคับคดีออกเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี เมื่อได้รับหมายนี้ จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา เช่น การจ่ายค่าปรับ หรือชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเงิน มิฉะนั้นอาจถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพื่อนำไปขายทอดตลาดและนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ประเภทของหมายศาลในคดีอาญา
![[THAC] SEO FEB C04 2 1200x628](https://thac.or.th/wp-content/uploads/2025/03/THAC-SEO-FEB-C04-2_1200x628.jpg)
เมื่อเกิดคดีอาญา ศาลจะดำเนินการยื่นหมายที่แตกต่างจากคดีแพ่ง โดยจะมีหมายศาล 3 รูปแบบหลักในคดีอาญา ดังนี้
1. หมายนัดไต่สวนมูลฟ้อง
ในคดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องเอง ศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนประทับรับฟ้อง โดยเมื่อได้รับหมายนัดไต่สวนมูลฟ้อง แสดงว่าคุณยังไม่ได้ตกเป็นจำเลยจนกว่าศาลจะมีคำสั่งประทับรับฟ้อง หากประสงค์จะต่อสู้คดี ควรปรึกษาทนายความและแต่งตั้งทนายให้ไปซักค้านพยานโจทก์ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องแทน ในระยะเวลานี้ หากสามารถไกล่เกลี่ยคดีอาญาหรือประนีประนอมกับโจทก์ได้ ฝ่ายโจทก์อาจยินยอมถอนการฟ้องร้อง และคุณไม่ต้องตกเป็นจำเลยในคดีความ
2. หมายเรียกจำเลย
หมายเรียกจำเลยในคดีอาญาออกเมื่อศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลและประทับรับฟ้องไว้พิจารณา เมื่อได้รับหมายนี้ คุณต้องไปศาลตามกำหนด เพื่อให้การแก้ข้อกล่าวหา หากไม่ไปศาลตามกำหนด ศาลจะออกหมายจับเพื่อนำตัวมาพิจารณา ซึ่งในวันนัด ควรเตรียมหลักทรัพย์สำหรับการประกันตัวเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะในคดีอาญาที่มีโทษหนัก
3. หมายค้น หมายจับ หมายขัง และหมายปล่อย
หมายเหล่านี้เป็นหมายบังคับที่ศาลออกเพื่อให้เจ้าพนักงานดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม เช่น ค้นสถานที่ จับกุมผู้ต้องหา ขังผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือปล่อยตัว เมื่อได้รับหมายประเภทนี้ ควรตรวจสอบรายละเอียดในหมายให้ชัดเจน และหากเห็นว่าเจ้าพนักงานปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหมาย เช่น จับกุมโดยไม่ชอบหรือค้นจนทำให้ทรัพย์สินเสียหายโดยเจตนา สามารถดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานได้เช่นกัน
ผลกระทบของการไม่ปฏิบัติตามหมายศาล
การไม่ปฏิบัติคำสั่งของหมายศาลยอมก่อให้เกิดผลเสียตามมา ทั้งในด้านกฎหมาย ชื่อเสียง และทรัพย์สิน โดยผลกระทบจากการไม่รับหมายศาลอาจมีหลายประการ เช่น
- แพ้คดีโดยขาดนัด – หากจำเลยไม่ยื่นคำให้การหรือไม่ไปศาลในวันนัด ศาลอาจตัดสินคดีโดยขาดนัด ซึ่งหมายความว่าศาลจะพิจารณาคดีฝ่ายเดียวและอาจมีคำพิพากษาไม่เอื้ออำนวยต่อจำเลย
- การบังคับคดี – หากไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือไม่ไปศาล ศาลอาจตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์เพื่อนำไปชำระหนี้
- ความผิดฐานขัดขืนหมายศาล – การไม่ปฏิบัติตามหมายศาลอาจถือเป็นการขัดขืนหมายศาล ซึ่งอาจมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- เสียโอกาสในการต่อสู้คดี – การไม่ไปศาลหรือไม่ยื่นคำให้การ จะส่งผลให้เสียโอกาสในการต่อสู้คดีและอาจต้องรับผิดในคดีความ
- ผลกระทบต่อประวัติเครดิต – ในกรณีการฟ้องร้องคดีหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อ หรือคดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน การไม่ไปศาลอาจทำให้ประวัติเครดิตเสียหายเนื่องจากการรายงานหนี้ค้างชำระไปยังเครดิตบูโร
แนะนำ ข้อควรปฏิบัติเมื่อได้รับหมายศาล
เมื่อได้รับหมายศาล ควรปฏิบัติตัว ดังนี้
1. ตั้งสติให้มั่น – อย่าตื่นตระหนกหรือกลัวจนเกินเหตุ
2. อ่านรายละเอียดในหมายให้ถี่ถ้วน – ตรวจสอบประเภทของหมาย วัตถุประสงค์ และกำหนดเวลาต่างๆ
3. ปรึกษาทนายความ – ควรว่าจ้างทนายความ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นคดีซับซ้อนหรือมีข้อกฎหมายที่เข้าใจยาก
4. ปฏิบัติตามคำสั่งในหมาย – ให้ความร่วมมือต่อศาล ไม่ว่าจะเป็นการไปศาล ส่งเอกสาร หรือปฏิบัติการอื่นตามที่ระบุ
5. เตรียมพยานหลักฐาน – หากต้องต่อสู้คดี ควรรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
6. พิจารณาการประนีประนอม – ในบางกรณี การไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความ อาจเป็นทางออกที่ดีกว่าการสู้คดี
การอนุญาโตตุลาการ ทางเลือกในการระงับข้อพิพาท
นอกจากการดำเนินคดีในศาล ยังมีทางเลือกอื่นในการระงับข้อพิพาทที่อาจช่วยหลีกเลี่ยงความยุ่งยากของกระบวนการศาล หนึ่งในทางเลือกนั้นคือ อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) ซึ่งเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาล โดยให้บุคคลที่สามที่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่พิพาทเข้ามาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมาย เช่นเดียวกับการตัดสินคดีความในชั้นศาล
ข้อดีของการอนุญาโตตุลาการ
- สะดวกรวดเร็ว – ไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลาดำเนินการน้อยกว่ากระบวนการในศาล
- ประหยัดค่าใช้จ่าย – เนื่องจากใช้เวลาน้อยกว่า จึงประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
- รักษาความสัมพันธ์ – ช่วยลดข้อขัดแย้งและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคู่พิพาท
- รักษาความลับ – กระบวนการดำเนินการเป็นความลับ จึงช่วยรักษาชื่อเสียงและความลับทางธุรกิจได้ดี
- ความเชี่ยวชาญ – คู่พิพาทสามารถเลือกอนุญาโตตุลาการที่มีความเชี่ยวชาญในข้อพิพาทที่เกิดขึ้นได้
โดยสรุป การได้รับหมายศาลไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่เข้าใจ แต่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ดังนั้น การทำความเข้าใจประเภทและวัตถุประสงค์ของหมายศาล รวมถึงการทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง จะช่วยให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ การปฏิบัติตามหมายศาลเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสิทธิตามกฎหมายและหลีกเลี่ยงบทลงโทษที่อาจตามมา ดังนั้น ควรให้ความสำคัญกับการตอบรับและปฏิบัติตามหมายศาลอย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ส่วนใครที่ต้องการระงับข้อพิพาททางเลือก ไม่ว่าด้วยวิธีการไกล่เกลี่ย ประนีประนอม หรือด้วยการอนุญาโตตุลาการ ทาง Thailand Arbitration Center หรือ THAC เป็นสถาบันอนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญที่ยินดีให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ
เกี่ยวกับ THAC
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงง่าย สะดวก และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ทาง
อีเมล: [email protected]