การบังคับตามใช้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศผ่านระบบภายในของรัฐภายใต้ The Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Arbitral Awards 1958
The Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Arbitral Awards 1958 หรือ New York Convention ถือได้ว่าเป็นอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติฉบับหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในแง่ของการค้าระหว่างประเทศ จึงทำให้บางกรณีคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศถูกนำมาปรับบังคับใช้กับกฎหมายภายในของรัฐ ซึ่งจะถูกยกมาเป็นประเด็นในบทความนี้
ที่มาและวัตถุประสงค์ของอนุสัญญา
ก่อนหน้าที่อนุสัญญานิวยอร์กจะมีผลใช้บังคับ ข้อกำหนดหลักที่เกี่ยวกับข้อตกลงอนุญาโตตุลาการและคำชี้ขาดนั้นได้ปรากฏในพิธีสารเจนีวาว่าด้วยข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ ( Geneva Protocol on Arbitration Clause League of Nation 1923) อย่างไรก็ตามในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 ข้อกำหนดต่างๆเหล่านี้เริ่มเกิดความยุ่งยากและไม่สามารถสนองต่อความต้องการทางการค้าระหว่างประเทศได้อีกต่อไป หอการค้านานาชาติ (The International Chamber of Commerce: ICC) ได้ริเริ่มกระบวนการที่จะสร้างข้อกำหนดใหม่มาแทนที่พิธีสาร เจนีวา ซึ่งมีความตั้งใจในการจัดตั้งสนธิสัญญาขึ้นมาใหม่โดยกระบวนการอยู่ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Economic and Social Council) หลังจากนั้นอนุสัญญานิวยอร์กได้ถูกจัดตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1958 และมีผลบังคับใช้ต่อรัฐภาคีในปีค.ศ.1959[1]
อนุสัญญานิวยอร์กถูกจัดตั้งขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ โดยวางข้อกำหนดหลักไว้ 2 ข้อ ได้แก่ วิธีการของรัฐภาคีในการทำข้อตกลงอนุญาโตตุลาการและคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ตัดสินนอกเขตอำนาจของศาล ซึ่งมีรัฐที่เป็นภาคีในอนุสัญญานี้จำนวน 169 รัฐ [LG1] ฉะนั้นอนุสัญญานิวยอร์กจึงเป็นอนุสัญญาที่สร้างหลักสากลในการบังคับใช้หลักสำคัญทั้งสองหลักของอนุสัญญา
เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศซึ่งเป็นวิธีการระงับข้อพิพาททางการค้าที่สำคัญ อนุสัญญานี้มีวัตถุประสงค์ในการสร้างมาตรฐานทางกฎหมายสำหรับสัญญาอนุญาโตตุลาการและการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศและคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่อยู่นอกรัฐ กล่าวคือ การปรับใช้คำชี้ขาดให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในรัฐ ซึ่งหลักการสำคัญของอนุสัญญานี้คือการไม่เกิดการเลือกประติบัติต่อคำชี้ขาดของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และรัฐภาคีจำเป็นต้องทำให้คำชี้ขาดเหล่านั้นสามารถที่จะบังคับใช้ภายในรัฐได้เช่นคำชี้ขาดที่ทำขึ้นภายในรัฐ รวมไปถึงเรียกร้องให้ศาลภายในของรัฐภาคีต้องปฏิบัติตามข้อตกลงในการอนุญาโตตุลาการอย่างสมบูรณ์ โดยศาลจะปฏิเสธคู่กรณีพิพาทในกระบวนการศาลหากพบว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายในการอนุญาโตตุลาการ[2]
กระบวนการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศกับกฎหมายภายในรัฐ
กระบวนการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นกระทำได้เพียงคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยื่นข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการและคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการแก่ศาลภายในรัฐแต่คำชี้ขาดนั้นอาจไม่สามารถบังคับใช้ตามกฎหมายได้หากเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในอนุสัญญานิวยอร์กข้อ 5[3] ซึ่งวางหลักเงื่อนไขในการปฏิเสธการยอมรับและการบังคับตามคำชี้ขาดไว้ กล่าวคือ
- ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการนั้นมิชอบด้วยกฎหมายหรือคู่พิพาทบกพร่อมเรื่องความสามารถ
- ผู้คัดค้านไม่ได้รับการแจ้งถึงการนัดหมายอนุญาโตตุลาการอย่างเหมาะสมหรือไม่สามารถเข้าร่วมในการอนุญาโตตุลาการได้
- คำชี้ขาดนั้นอยู่นอกเหนือขอบเขตข้อพิพาทที่ยื่นอนุญาโตตุลาการ
- คำชี้ขาดนั้นยังไม่มีผลผูกพันคู่พิพาทหรือการอนุญาโตตุลาการถูกเลื่อนออกไปและยังไม่จบคดี
- การดำเนินการอนุญาโตตุลาการนั้นไม่เป็นไปตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการของคู่พิพาทหรือไม่เป็นไปตามกฎหมายของรัฐที่มีการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
- หากหน่วยงานที่มีอำนาจในการบังคับใช้คำชี้ขาดพบว่าเนื้อหาของข้อพิพาทไม่สามารถตกลงระงับโดยอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมายของรัฐนั้นหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะขัดต่อหลักนโยบายสาธารณะของรัฐ
อนุสัญญานิวยอร์กได้กำหนดถึงข้อกำหนดเบื้องต้นในการยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ การนำคำชี้ขาดเหล่านั้นมาปรับบังคับใช้ให้เป็นกฎหมายภายในนั้นยังต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการภายในของแต่ละรัฐภาคี กล่าวคือแม้ว่าสาระสำคัญในอนุสัญญาที่รัฐเป็นภาคีนั้นควรจะเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด แต่ก็ยังมีข้อแตกต่างในวิธีการนำมาปรับใช้เป็นกฎหมายภายในของแต่ละรัฐอยู่ ข้อแตกต่างเหล่านั้นอาจเกิดขึ้นได้จากอีกสาเหตุหนึ่งที่อนุสัญญานิวยอร์กยังอนุญาตให้ใช้ระบบอนุญาโตตุลาการภายในรัฐที่การยอมรับและบังคับใช้นั้นเป็นที่นิยมกว่าการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเพราะขั้นตอนกระบวนการนั้นมีข้อจำกัดที่น้อยกว่า และง่ายต่อการเป็นแนวทางปฏิบัติภายในรัฐ
ข้อท้าทายและข้อจำกัดในการบังคับใช้คำชี้ขาดภายใต้อนุสัญญานิวยอร์ก
แม้ว่าจะผ่านมากว่า 61 ปีแล้ว อนุสัญญานิวยอร์กยังคงเป็นอนุสัญญาที่ร่วมสมัยอยู่ด้วยความเรียบง่ายของหลักการและแนวคิด มากไปกว่านั้นปัจจัยหลักที่ยังคงทำให้อนุสัญญานิวยอร์กเป็นที่นิยมอยู่เนื่องจากประสิทธิภาพของอนุสัญญาสามารถเติมเต็มความต้องการทางธุรกิจระหว่างประเทศและความต้องการของสังคมได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อจำกัดบางข้อที่ทำให้อนุสัญญานิวยอร์กยังประสบปัญหาอยู่
ข้อสำคัญหลักๆสองข้อในการบังคับใช้อนุสัญญานิวยอร์กคือข้อจำกัดทางการค้า กล่าวคืออนุสัญญาอนุญาตให้รัฐภาคีจำกัดคำชี้ขาดเฉพาะข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องทางการค้าเท่านั้น และข้อจำกัดของผลประโยชน์ระหว่างประเทศเนื่องจากอนุสัญญาอนุญาตให้รัฐปฏิเสธเขตอำนาจของศาลในอนุญาโตตุลาการที่เกิดขึ้นภายในรัฐที่ไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญานิวยอร์กในขณะที่ประเทศแถบตะวันออกกลางนั้นถือได้ว่าเป็นประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีได้ง่ายที่สุด กว่าครึ่งหนึ่งของ 15 ประเทศแถบตะวันออกกลางเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีอนุสัญญานิวยอร์กโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ แต่ในขณะเดียวกันที่ไม่มีข้อจำกัดในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญานั้น ในทางปฏิบัติของศาลยังคงมีข้อจำกัดในการบังคับใช้คำชี้ขาดอยู่ เช่นกรณีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ศาลภายในเคยยกประเด็นของ คำพิพากษาของศาลอาญาระหว่างประเทศที่จะมีผลผูกพันและบังคับใช้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ต้องการหลักฐานแน่ชัดว่าสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นคู่กรณีพิพาทนั้นเป็นภาคีในอนุสัญญานิวยอร์ก จนกว่าจะสามารถพิสูจน์ได้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
นอกจากนี้ยังมีประเด็นของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นซึ่งยังมีข้อกำจัดของผลประโยชน์ระหว่างประเทศและในจีนที่มีข้อจำกัดทางการค้าและข้อจำกัดของผลประโยชน์ระหว่างประเทศด้วย อย่างไรก็ดียังคงไม่ปรากฏผลกระทบด้านลบของข้อจำกัดของผลประโยชน์ระหว่างประเทศในญี่ปุ่นและสถานการณ์ของจีนที่มีข้อจำกัดทั้งสองด้านก็ยังคงที่ ประเด็นที่น่าสนใจคือโดยปกติรัฐวิสาหกิจของจีนไม่กล่าวอ้างถึงข้อจำกัดทางการค้ามาเป็นข้อป้องกันตัวเองเมื่อกรณีที่ต้องมีการบังคับใช้คำชี้ขาดภายใต้อนุสัญญานิวยอร์ก ในทางปฏิบัติข้อจำกัดของผลประโยชน์ระหว่างประเทศก่อให้เกิดผลกระทบเล็กน้อยเนื่องจากรัฐภาคีสามารถตกลงกันได้ตั้งแต่แรกว่าจะยื่นอนุญาโตตุลาการภายในรัฐที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญานิวยอร์กหรือไม่ก็ได้
มากไปกว่านั้นยังมีข้อจำกัดเพิ่มเติมในด้านการออกกฎหมายเพื่อดำเนินการตามอนุสัญญานิวยอร์กหรือการกีดกันการบังคับใช้อนุสัญญานิวยอร์กโดยผ่านวิธีการดำเนินคดีซึ่งในบางครั้งศาลภายในทำให้การบังคับตามคำชี้ขาดแทบจะเป็นไปไม่ได้ด้วยอาศัยข้อยกเว้นของหลักนโยบายสาธารณะหรือการไม่ชอบด้วยกฎหมายของข้อตกลงในการอนุญาโตตุลาการ ตัวอย่างเช่น ศาลในอินโดนีเซียและที่อื่นๆแม้ว่าคำชี้ขาดจะเกิดขึ้นที่สวิสเซอร์แลนด์ก็ตาม กฎหมายภายในของรัฐก็ยังสามารถควบคุมข้อตกลงในการอนุญาโตตุลาการซึ้งทำให้คำชี้ขาดตกเป็นโมฆะ อย่างไรก็ตามหากศาลภายในตีความอนุสัญญานิวยอร์กไปในทางที่ไม่ถูกต้องตามตัวบทกฎหมายก็จะเสี่ยงต่อการละเมิดต่อสนธิสัญญาได้ ในความเป็นจริงสนธิสัญญาใดๆก็มีความเสี่ยงที่จะไม่ถูกปฏิบัติตามและท้ายที่สุดนั้นการปฏิบัติตามสนธิสัญญาหรือไม่ก็ยังขึ้นอยู่กับความสมัครใจและความยินยอมของศาลภายในรัฐที่จะตีความบทบัญญัติของสนธิสัญญาไปในทิศทางใด
บทสรุป
เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีตัวบทหรือโครงสร้างของอนุสัญญานิวยอร์กที่ตีความได้ว่าเป็นกำหนดข้อจำกัดในการยอมรับและบังคับใช้ของคำชี้ขาดอย่างชัดเจน แต่แสดงถึงวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้การบังคับใช้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีการใช้แพร่หลาย เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ดังกล่าวอนุสัญญานิวยอร์กไม่ควรถูกตีความไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายรัฐภาคีเพียงอย่างเดียวแต่ควรเป็นการอำนวยความสะดวกเพื่อให้การบังคับใช้เป็นประโยชน์สูงสุด[4]
[1] C. Mark Baker, Pierre Bienvenu, Ad. E., Cara Dowling, Marking the 60th anniversary of the New York Convention A Q&A with Norton Rose Fulbright’s global co-heads of international arbitration, Norton Rose Fulbright, May 2018.
[2] United Nations, Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Arbitral Awards (New York, 1958), Introduction, Objectives, หน้า 1.
[3] United Nations, Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Arbitral Awards (New York, 1958), Article V, หน้า 9-10.
[4] Waseem I. Pangarkar, Abhishek Gupta, Aakansha Luhach, MZM Legal, United States: Applicability Of The New York Convention In Enforcement Of A Purely Domestic Award, 31 October 2021.
[LG1]อาจลองตรวจสอบจำนวนประเทศภาคีสมาชิกให้เป็นปัจจุบันค่ะ เข้าใจว่าตอนนี้น่าจะอยู่ที่ 169 รัฐ อ้างอิงจาก
https://uncitral.un.org/en/texts/arbitration/conventions/foreign_arbitral_awards/status2