
สมาร์ทวีซ่า เงื่อนไขและขั้นตอนในการจะเข้ามาทำอนุญาโตตุลาการในไทย

การที่อนุญาโตตุลาการต่างชาติจะเข้ามาทำอนุญาโตตุลาการในไทย การเข้ามาเป็นครั้งคราวก็คงจะไม่เป็นปัญหามาก หากแต่ถ้าในกรณีที่มีลูกค้าหรือมีคดีความ แล้วต้องการเข้ามาทำธุระติดต่อในไทยเป็นระยะเวลายาวนาน หรือเดินทางเข้าออกประเทศบ่อยครั้ง “สมาร์ทวีซ่า” ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะชาวต่างชาติสามารถทำใหม่ได้ ยิ่งถ้ามีวีซ่าอยู่แล้วก็สามารถอัพเกรดเป็น สมาร์ทวีซ่าได้เช่นกัน
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
“สมาร์ทวีซ่า” ไม่ได้สมาร์ทแค่ชื่อ แต่คุณสมบัติหรือสิทธิพิเศษอื่นๆก็สมาร์ทด้วย ทั้งได้รับสิทธิพำนักในประเทศไทยสูงสุดเป็นระยะเวลา 4 ปี, รายงานตัวเพียง 1 ครั้ง จากปกติต้องรายงานตัวทุกๆ 90 วัน, สามารถเดินกลับเข้ามาในราชอาณาจักรได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ทั้งนี้ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่นอกราชอาณาจักรสามารถยื่นขอสมาร์ทวีซ่าได้ รวมถึงชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทยสามารถขอเปลี่ยนวีซ่าทั่วไปเป็นสมาร์ทวีซ่าได้ด้วย
แน่นอนว่า สมาร์ทวีซ่า ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำได้ เพราะทางรัฐบาลต้องการใช้สิทธิพิเศษนี้ในการดึงดึงดูดให้บุคคลที่มีทักษะสูงและนักลงทุนที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานหรือลงทุนใน S–Curve (อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ) หรือกิจการเป้าหมายของประเทศ (อุตสาหกรรมและกิจการเป้าหมายคืออะไร คลิก) ให้เข้ามาในประเทศ ด้วยสิทธิพิเศษที่มากกว่าวีซ่าทั่วไป ทำให้ขั้นตอนในการยื่นขอสมาร์ทวีซ่าก็มากกว่าวีซ่าทั่วไปด้วย แต่เมื่อได้สมาร์ทวีซ่ามาแล้ว รับรองเลย ว่า “คุ้มมาก” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงด้านการอนุญาโตตุลาการ ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้กำหนดขอบเขตคุณสมบัติของผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงด้านการอนุญาโตตุลาการเอาไว้ว่าต้อง “ผู้ที่เข้ามาเพื่ออนุญาโตตุลาการ ผู้ว่าต่าง แก้ต่างในชั้นอนุญาโตตุลาการ และผู้สนับสนุนงานของอนุญาโตตุลาการ” เท่านั้น
โดยผู้ที่จะขอสมาร์ทวีซ่าต้องทำตามขั้นตอนดังนี้
- 1. อนุญาโตตุลาการที่ต้องการยื่นคำขอให้ยื่นคำขอพร้อมแสกนเอกสารประกอบผ่านทางออนไลน์ไปที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) หรือ สถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC เพื่อคัดกรองและตรวจสอบเอกสารเบื้องต้น หากคุณสมบัติและเอกสารครบถ้วน ทางสถาบันฯ THAC จะออกเอกสารรับรองให้กับผู้ยื่นคำขอ และยื่นเรื่องไปที่ BOI เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับอนุญาโตตุลาการและเป็นการแบ่งเบาภาระในการตรวจสอบเอกสารของ BOI อีกด้วย
- 2.ถ้าหากเจ้าหน้าที่ไม่ได้ติดต่อกลับไปว่าเอกสารไม่พอ หรือต้องยื่นเอกสารอะไรเข้ามาเพิ่มเติม ก็ถือว่าเสร็จสิ้นหน้าที่ของผู้ยื่นคำขอแล้วซึ่งจะใช้เวลาในการดำเนินการ 30 วัน
- 3. ภายหลังจากที่ BOI ได้รับแบบยื่นคำขอออนไลน์แล้ว BOI จะแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และเข้าไปตรวจสอบแบบคำขอดังกล่าว
- 4. หากผ่านการพิจารณาจากทุกหน่วยงาน (กรมการจัดหางาน,หน่วยงานระงับข้อพิพาททางเลือก,สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ) จึงจะมีสิทธิได้รับสมาร์ทวีซ่า (SMART Visa)
- 5.ซึ่งหากบุคคลใดผ่านการพิจารณาให้มีสิทธิได้รับสมาร์ทวีซ่า (SMART Visa) แล้ว BOI จะดำเนินการแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ยื่นคำขอ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (กรณีในประเทศ) และสถานกงสุลหรือสถานทูตไทย (กรณีต่างประเทศ) ทราบ เพื่อดำเนินการตรวจลงตราให้คนต่างด้าวรายดังกล่าวต่อไป
- 6. หลังจากนั้นผู้ที่ผ่านจะต้องไปยืนยันตัวตนในขั้นตอนการตรวจลงตราที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (กรณีในประเทศไทย) หรือได้รับสติกเกอร์เพื่อปิดลงในหนังสือเดินทางจากสถานกงสุลหรือสถานทูตไทย (กรณีต่างประเทศ)
- 7.นอกจากนี้ จะต้องรายงานตัวต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ต้องดำเนินการทุก 1 ปี และต้องรายงานตัวต่อ BOI ทุกปีถึงสภาพการปฏิบัติงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงด้วย
โดยการอนุญาโตตุลาการนั้น จัดอยู่ในกลุ่มสมาร์ทวีซ่า (SMART Visa) “T” ซึ่งในกรณีการขอเอกสารประกอบการยื่นขอสมาร์ทวีซ่า (SMART Visa) “T” สำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงด้านอนุญาโตตุลาการนั้น ปัจจุบันเอกสารเหลือเพียง 5 – 6 อย่าง (ไม่รวมแบบคำขอ) นอกจากเอกสารทั่วไป ก็ยังมีใบรับรองแพทย์ ซึ่งจะออกจากคลินิกหรือโรงพยาบาลแห่งใดในราชอาณาจักรไทยก็ได้ หนังสือรับรองจากหน่วยงานหรือสถาบันให้บริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก หรือการอนุญาโตตุลาการ หากมีสัญญาจ้างหรือสัญญาบริการที่ได้ทำขึ้นระหว่างอนุญาโตตุลาการกับคู่พิพาทก็ต้องแนบมาเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย และหากเข้ามาเป็นอนุญาโตตุลาการ ก็ต้องมีคำสั่งแต่งตั้ง ประสบการณ์การทำงาน เอกสารหลักฐานทางการศึกษาเป็นต้น
อย่างไรก็ดี หากมีกรณีที่ไม่มีการทำสัญญา อาจจะใช้หนังสือรับรองสถาบันหรือหน่วยงานที่ให้บริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือกทดแทนได้ แต่ในรายละเอียดของหนังสือรับรองอาจจะต้องมีความครอบคลุมด้วย เช่น ในเรื่องของระยะเวลาที่จะเข้ามาปฏิบัติงาน, ข้อตกลงเรื่องค่าตอบแทน เป็นต้น
จากข้างต้นจะเห็นว่าขั้นตอนในการขอ สมาร์ทวีซ่า (SMART Visa) กลุ่ม “T” นี้ค่อนข้างที่จะมีหลายขั้นตอน ก็คงจะสงสัยกันใช่มั้ยว่า ขั้นตอนเยอะขนาดนี้ สิทธิประโยชน์จะมีเยอะมากขนาดไหน ในส่วนของสิทธิประโยชน์ของ สมาร์ทวีซ่า (SMART Visa) กลุ่ม “T” นั้น บอกเลยว่าคุ้มกับการดำเนินการแน่นอน เพราะสิทธิที่จะได้รับนั้นก็คือ
- ได้รับ สมาร์ทวีซ่า (SMART Visa) “T” โดยมีระยะเวลาไม่เกินระยะเวลาตามสัญญาจ้าง/สัญญาบริการ แต่สูงสุดครั้งละไม่เกิน 4 ปี
- ไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงานสำหรับการทำงานในกิจการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้หลักเกณฑ์คุณสมบัติของวีซ่าประเภท SMART “T”. ในกรณีที่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม จะต้องขอรับรองเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
- รายงานทุก 1 ปี จากปกติทุก 90 วัน
- สามารถเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
- คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย จะได้รับสิทธิในการพำนักในประเทศไทย และการทำงานได้โดยไม่ต้องขออนุญาตทำงาน(บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายจะทำงานได้นั้นจะต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการทำงานต้องห้ามที่ห้ามคนต่างด้าวทำ
จากทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า สมาร์ทวีซ่ามีเงื่อนไขและขั้นตอนในการทำเยอะมากก็จริง แต่ถ้าหากคุณได้มาอยู่ในครอบครองคุณก็จะถือสิทธิที่พิเศษสุดๆ เพราะไม่ใช่ว่าแค่คุณจะได้สิทธิพิเศษ แต่กับบุตรและคู่สมรส ก็ได้สิทธินี้ไปด้วย แถมไม่ใช่ว่าใครก็ทำหรืออัพเกรดเป็นสมาร์ทวีซ่าได้ เพราะคนที่ทำได้ต้องเป็นบุคคลมีทักษะสูงและนักลงทุนที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานหรือลงทุนใน S–Curve (อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ) หรือกิจการเป้าหมายของประเทศเท่านั้น (ดูสิทธิประโยชน์ของสมาร์ทวีซ่ากลุ่มอื่น คลิก)
หลังจากอ่านบทความนี้จบลง แล้วพบว่าตัวท่านเองมีสิทธิที่จะสามารถยื่นขอสมาร์ทวีซ่าได้แล้วละก็ อยากให้รีบดำเนินการขอสมาร์ทวีซ่าไว้เลย เพราะมันสะดวกในการใช้มากจริงๆ และส่วนท่านใดที่เป็นอนุญาโตตุลาการต่างชาติ ที่ตรงกับขอบเขตที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้กำหนดไว้ สามารถสอบถามหรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการออกเอกสารรับรองด้านอนุญาโตตุลาการ กับทางสถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC ของเราได้ฟรี เพียงเข้ามาดูรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ www.thac.or.th หรือ page facebook THAC