
อนุญาโตตุลาการในไทย ทำ Work Permit ง่ายกว่าที่คิด

ในปัจจุบันมีการค้าระหว่างประเทศเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ถือเป็นผลดีที่ดึงรายได้เข้าสู่ประเทศ แต่ก็มีโอกาสเกิดข้อพิพาทตามมาได้ด้วย ทำให้เสียเวลาและเสียโอกาสในการดำเนินธุรกิจ การระงับข้อพิพาททางการค้าการพาณิชย์ยิ่งยุติได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรักษาความสัมพันธ์ได้ดีเท่านั้น
ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง
การยุติข้อพิพาททางการค้าการพาณิชย์ ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่พบคือความติดขัดทางด้านกฎหมายและข้อบังคับที่ใช้ในปัจจุบัน พบว่ากฎหมายและข้อบังคับที่ใช้อยู่นั้นยังไม่อำนวยความสะดวกในการให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศมากเท่าที่ควร เพราะหากเกิดกรณีที่ อนุญาโตตุลาการ และผู้รับมอบอำนาจจากคู่พิพาท เป็นชาวต่างชาติ และมีความต้องการที่จะเข้ามาดำเนินการกระบวนการอนุญาโตตุลาการในไทยนั้น ต้องยื่นเอกสารเพื่อขออนุญาตจากหลายหน่วยงาน หนึ่งในนั้นคือเอกสารที่เรารู้จักกันในนาม ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และ วีซ่าธุรกิจ (Visa Non-B)
ใบอนุญาตทำงานหรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ Work Permit นั้น คือใบอนุญาตให้ทำงานที่ประเทศไทย ออกให้ให้แก่ชาวต่างชาติที่มีความต้องการทำงานในไทย ทั้งบุคคลที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยหรือแม้แต่เข้ามาเป็นลูกจ้างในประเทศไทย ก็ต้องทำเรื่องยื่นเพื่อขอเปลี่ยนแปลงประเภทการลงตราตามกฎหมายของราชอาณาจักรไทย ให้เป็น NON-IMMIGRANT VISA “B” หรือ (Visa Non-B) หรือวีซ่าธุรกิจ เพราะหากไม่เปลี่ยนแปลงวีซ่า ให้เป็นวีซ่าธุรกิจแล้ว ก็จะไม่สามารถทำงานในราชอาณาจักรไทยได้
แล้วรู้หรือไม่ว่า ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และ วีซ่าธุรกิจ (Visa Non-B) คืออะไร แล้วต่างกันยังไง ???
- Work Permit หรือ ใบอนุญาตทำงาน คือ ใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย จะออกให้แก่ต่างชาติ ที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย ออกโดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
- Visa Non-B หรือ วีซ่าธุรกิจ คือ ใบอนุญาตเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อทำงาน ออกโดยสถานกงสุลไทย กระทรวงต่างประเทศ หรือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
โดยอายุการใช้งานของ ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และ วีซ่าธุรกิจ (Visa Non-B) จะอยู่ที่ 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี และ 2 ปี (สูงสุด) ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรมการจัดหางาน สำหรับ Work Permit และสำนักงานตรวจหาคนเข้าเมือง สำหรับ Visa โดยพิจารณาจากความจำเป็นหลายๆส่วน เช่น ประเภทงานที่ทำ ความจำเป็นในการทำงาน เป็นต้น
ซึ่งการที่จะยื่นเรื่องขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ได้นั้น ต้องมีคุณสมบัติทั้งหมด 4 ข้อ คือ
- คนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยหรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทยชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (NON-IMMIGRANT) โดยมิใช่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางผ่าน (TOURIST / TRANSIT) ซึ่งจะอนุญาตทำงานในครั้งแรก หรือเมื่อใบอนุญาตเดิมขาดต่ออายุจึงขอใหม่
- มีความรู้และความสามารถในการทำงานตามที่ขออนุญาต
- ไม่เป็นบุคลวิกลจริตหรือมีจิตฟั้นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน วัณโรคในระยะสุดท้าย โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการอันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคซิฟิลิสในระยะที่ 3
- ไม่เคยต้องโทษจำคุกในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวภายในระยะเวลา 1 ปี ก่อนวันขอรับใบอนุญาต
เอกสารที่ต้องใช้สำหรับยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงาน ( Work permit ) ต้องมีดังต่อไปนี้
- แบบคำขอ ต.ม.1 และรูปถ่ายขนาด 3×4 เซนติเมตร (1 นิ้วครึ่ง) จำนวน 3 รูป ( ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน ที่ไม่ใช่รูปจากคอมพิวเตอร์/โพลารอยด์ )
- หนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ชี้แจงความจำเป็นในการจ้างแรงงานต่างด้าว กรณีบริษัทผ่าน B.O.I หรือ กนอ. ให้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ชี้แจงเหตุผลที่ไม่ยื่นใช้สิทธิ์ B.O.I หรือ กนอ. พร้อมสำเนาบัตรส่งเสริม
- หนังสือรับรองการจ้างงาน หรือ สัญญาจ้าง
- สำเนาหลักฐานการศึกษาและหลักฐานการผ่านงาน
- ใบรับรองแพทย์
- สำเนาหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวพร้อมฉบับจริง
- สำเนาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในกรณีที่เป็นการประกอบวิชาชีพที่กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
- หนังสือมอบอำนาจจากนายจ้าง(กรณีนายจ้างเป็นคนต่างด้าว ใช้สำเนาใบอนุญาตทำงาน ) ติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
เมื่อเอกสารและคุณสมบัติพร้อมแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการยื่น หากยื่นขอใบฃอนุญาตในครั้งแรกต้องทำอย่างไรบ้าง?
- ยื่นขอ วีซ่าธุรกิจ (Visa Non-B) อายุ 90 วัน จากสถานกงสุลไทย ณ ประเทศนั้นๆ หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในประเทศไทย
- เมื่อได้รับ Visa แล้วให้รีบดำเนินการขอ ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) (ตท.1) อายุ 1 ปี ที่กรมการจัดหางาน ภายใน 30 วัน
- หลังจากได้รับ ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ให้ต่ออายุ วีซ่าธุรกิจ (Visa Non-B) อายุ 1 ปี ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ภายใน 30 วัน
เรื่องของค่าใช้จ่ายในการยื่นขอใบอนุญาตนั้นขึ้นอยู่กับค่าธรรมเนียมแต่ละประเภทที่ใช้บริการ ส่วนระยะเวลาในรอผลพิจารณา หากข้อมูลและเอกสารที่แนบมาถูกต้องครบถ้วน การอนุญาต Work Permit ใช้เวลาภายใน 1 เดือน และ Visa Non-B ใช้เวลา 3-7 วันทำการก็ทราบผล
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าทั้งเอกสารและขั้นตอนในการขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ค่อนข้างที่จะยุ่งยากและซับซ้อน ซึ่งถ้าหากเกิดข้อพิพาทขึ้น แล้วต้องการมาทำกระบวนการอนุญาโตตุลาการในไทย แต่อนุญาโตตุลาการ และผู้รับมอบอำนาจจากคู่พิพาท เป็นคนต่างชาติ ยังไม่มีเอกสารพร้อมก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากและกินระยะเวลายาวนานกว่าปกติ พร้อมทั้งยังกระทบต่อศักยภาพในการแข่งขันด้านการให้บริการระงับข้อพิพาททางเลือกของประเทศไทยอีกด้วย
เพื่อเป็นการลดทอนอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ สถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง อย่างกรมการจัดหางานที่มีอำนาจในการออกใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ที่มีอำนาจออก วีซ่าธุรกิจ (Visa Non-B) ให้ชาวต่างชาติ ทำให้จำนวนเอกสารประกอบการยื่นขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และวีซ่าธุรกิจ (Visa Non-B) ลดน้อยลงกว่าปกติ การอำนวยความสะดวกในจุดนี้ ก็จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับเป็นหนึ่งในสถานที่ในการดำเนินกระบวนการพิจารณาอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้คู่กรณีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศ และยังเป็นการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการระงับข้อพิพาททางเลือกที่สำคัญในภูมิภาคนี้อีกด้วย