
ทำความรู้จักกับอนุสัญญานิวยอร์ก (1)

การตัดสินและการระงับข้อพิพาทต่าง ๆ นั้นมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาต่อรอง การประนอมข้อพิพาท การเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยศาล รวมไปถึงการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ
กระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้นได้รับความนิยมเนื่องจากเป็นกลไกการระงับข้อพิพาทที่แก้ไขอุปสรรคเกี่ยวกับการบังคับตามคำชี้ขาดได้ดีกว่ากระบวนการทางศาลอีกทั้งยังมีความรวดเร็ว สะดวกกว่ากระบวนการทางศาลมาก ทั้งนี้การใช้บริการของสถาบันอนุญาโตตุลาการนั้นจะมีความสะดวกสบายมากกว่า Ad Hoc หรืออนุญาโตตุลาการแบบเฉพาะกิจ ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่สถาบันอนุญาโตตุลาการทุกแห่งจะมีข้อบังคับอนุญาโตตุลาการหรือ Arbitration Rule ของตนเอง และสถาบันจะอำนวยความสะดวกในการดำเนินการต่าง ๆ โดยที่คู่กรณีไม่ต้องดำเนินการเอง[1] โดยสถาบันอนุญาโตตุลาการนี้มีให้บริการอยู่ทั่วโลก อาทิเช่น ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งลอนดอน ( London Court of International Arbitration “LCIA”), ศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศฮ่องกง (Hong Kong International Arbitration Centre “HKIAC”) สมาคมอนุญาโตตุลาการอเมริกา- ศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการระงับข้อพิพาท (American Arbitration Association – International Centre for Dispute Resolution “AAA-ICDR”) รวมไปถึงสถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center: THAC) ซึ่งเป็นสถาบันฯที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาท
เมื่อคู่กรณีเกิดกรณีพิพาทขึ้นและได้ตกลงกันให้นำกรณีพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการแล้ว ต่อมาคำถามคือเมื่อการอนุญาโตตุลาการนั้นสามารถเลือกสถาบันอนุญาโตตุลาการซึ่งมีให้บริการอยู่หลากหลายแห่งทั่วโลกแล้ว การจะนำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไปบังคับใช้ตามกฎหมายของประเทศตนนั้นจะทำเช่นไร คำตอบนั้นก็คือการยอมรับและการบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการระหว่างเทศนั่นเอง
ความเป็นมาของอนุสัญญานิวยอร์ก
อนุสัญญานิวยอร์กนั้นมีชื่อว่า อนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการบังคับตามคำชี้ขาด อนุญาโตตุลาการต่างประเทศ 1958 หรือ Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Arbitral Awards 1958 (“New York Convention”) เป็นตราสารพหุภาคีด้านการค้าระหว่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด[2] อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการเข้าด้วยกันทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันในการยอมรับคำชี้ขาดและสัญญาอนุญาโตตุลาการ โดยที่ศาลทั่วโลกก็ได้ยอมรับบังคับใช้รวมไปถึงตีความอนุสัญญานี้มาเป็นระยะเวลานาน
แรกเริ่มนั้นหลังจากการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่ 1 สภาสันนิบาตชาติหรือ The League of Nation โดยความสนับสนุนของหอการค้านานาชาติหรือ หรือ International Chamber of Commerce หรือ ICC ได้จัดทำพิธีสารเจนีวาว่าด้วยข้อตกลงอนุญาโตตุลาการค.ศ. 1923 หรือ Geneva Protocol on Arbitration Clause League of Nation 1923 ซึ่งได้มีการลงนาม ณ เจนีวา เมื่อวันที่ 24 กันยายน 1923 ซึ่งพิธีสารเจนีวานี้เป็นความตกลงพหุภาคีโดยมีหลักเกณฑ์ในการยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ[3] ทั้งนี้ต่อมาในปี 1927 ได้มีการจัดทำอนุสัญญาเจนีวา 1927 หรือ Geneva Convention on Execution of Foreign Award, League Nation,1927 เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการบังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ (Arbitral awards) ซึ่งทำขึ้นตามข้อตกลงในการอนุญาโตตุลาการ (Arbitration agreement) ทั้งนี้สาระสำคัญของอนุสัญญาเจนีวา 1927 นั้นอยู่ที่การยอมรับนับถือและการบังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยมีความสืบเนื่องมาจากสัญญาอนุญาโตตุลาการที่อยู่ในบังคับของพิธีสารเจนีวา 1923 ดังนั้น เฉพาะประเทศที่เป็นภาคีของพิธีสารเจนีวา 1923 แล้วเท่านั้นที่จะมีสิทธิเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาเจนีวา 1927[4] ดังนั้นจึงส่งผลให้อนุสัญญาเจนีวา 1927 และพิธีสารเจนีวา 1923 นั้นต้องมีการใช้ร่วมกันเสมอ[5]
ต่อมาในปี 1958 คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (The Economic and Social Council: ECOSOC) ได้จัดให้มีการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศหรือ Conference on International Commercial Arbitration ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคมถึงวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ.1958 ณ กรุงนิวยอร์กซึ่งผลของการประชุมนั้นก็คือการรับเอาอนุสัญญานิวยอร์กนั่นเอง ซึ่งสาระสำคัญของอนุสัญญานิวยอร์กนี้คือเป็นการขยายขอบเขตการยอมรับและการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศให้กว้างขวางและสะดวกรวดเร็วมากกว่าที่ปรากฎอยู่ในอนุสัญญาเจนีวา 1927 สาระสำคัญโดยหลักของอนุสัญญานิวยอร์กนี้คือ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศไม่ว่าจะทำ ณ ที่ใด ประเทศที่เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญานิวยอร์กนั้นจะยอมรับนับถือ (Recognition) และทำการบังคับตามคำชี้ขาด เว้นแต่จะได้มีการกำหนดข้อสงวนไว้ตามอนุสัญญานิวยอร์ก
การเข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญานิวยอร์กของประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยนั้นได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญานิวยอร์ก 1958 (New York Convention 1958) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ.1959
ผลของการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับนี้ ทำให้คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศ สามารถนำมาขอบังคับตามคำชี้ขาดภายในประเทศไทยได้ ทั้งนี้ ตามที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 บัญญัติไว้ในมาตรา 41 – 44
ทั้งนี้ศาลในประเทศที่ร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดจะไม่ก้าวล่วงไปพิจารณาถึงความถูกต้องเหมาะสมเนื้อหาของคำชี้ขาด คงพิจารณาแต่เพียงว่า คำชี้ขาดได้วินิจฉัยโดยกระบวนการพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้ร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดไม่ต้องพิสูจน์ถึงความสมบูรณ์ของคำชี้ขาด เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้าน[LG1] หรือ คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งที่จะต้องพิสูจน์ว่าคำชี้ขาดไม่สมบูรณ์[6]
[1] เสาวนีย์ อัศวโรจน์, คำอธิบายกฎหมายว่าด้วยวิธีการระงับข้อพิพาททางธุรกิจโดยการ อนุญาโตตุลาการ, พิมพ์ครั้งที่3 (กรุงเทพมหานคร: สานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554), หน้า 49.
[2] https://cdn.arbitration-icca.org/s3fs-public/document/media_document/thailand_nyc_guide_final_16_september_2019.pdf
[3] จิตรดารมย์ รัตนวุฒิ. การยอมรับและการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเทศสมาชิกอาเซียน. วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต. กรุงเทพ. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต. 2560 น.13
[4] เพิ่งอ้าง น 14
[5] เพิ่งอ้าง หน้าเดียวกัน
[6] “ความรู้เกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” โดย กรองเกียรติ คมสัน ,2530,ดลุพาห, 3(34), น. 28.