
สัญญาทางพาณิชย์ รากฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันเต็มไปด้วยความท้าทายและความซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่สูงขึ้น ประกอบกับความต้องการของลูกค้ายุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้องค์กรและกิจการต่างๆ ต้องพัฒนาสินค้าหรือบริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทำ “สัญญาทางพาณิชย์” กับธุรกิจคู่ค้า ซึ่งสัญญาที่รัดกุมนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยปกป้องผลประโยชน์และสร้างความชัดเจนในความสัมพันธ์ทางธุรกิจ สัญญาทางพาณิชย์ไม่เพียงแต่กำหนดสิทธิและหน้าที่ของแต่ละฝ่าย แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงจากความเข้าใจผิดและข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
บทความนี้นำเสนอภาพรวมของสัญญาทางพาณิชย์ ประเภทต่างๆ องค์ประกอบสำคัญ ตลอดจนแนวทางการจัดการและระงับข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้น เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจให้ยั่งยืน
สัญญาทางพาณิชย์คืออะไร สำคัญต่อธุรกิจอย่างไร
สัญญาทางพาณิชย์ คือ ข้อตกลงระหว่างบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจหรือการค้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรและมุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสัญญาประเภทนี้มีความยืดหยุ่นมากกว่าสัญญาทางแพ่งทั่วไป และมีลักษณะเฉพาะที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ
สัญญาทางพาณิชย์มีความสำคัญต่อการประกอบกิจการในหลายๆ ด้าน โดยมีข้อสำคัญหลัก ได้แก่
- สร้างความชัดเจนในความสัมพันธ์ทางธุรกิจ – สัญญาทางพาณิชย์กำหนดสิทธิ หน้าที่ และความคาดหวังของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน ทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจขอบเขตความรับผิดชอบของตนเอง การมีเอกสารที่ระบุข้อตกลงอย่างละเอียดช่วยลดความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการทำธุรกิจร่วมกัน
- ลดความเสี่ยงและป้องกันข้อพิพาททางธุรกิจ – การระบุเงื่อนไข ข้อจำกัด และเหตุสุดวิสัยไว้ล่วงหน้าช่วยลดโอกาสเกิดข้อพิพาทในอนาคต และหากเกิดปัญหา สัญญาจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการหาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ซึ่งการมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทไว้ในสัญญา ช่วยให้ทุกฝ่ายมีแนวทางชัดเจนในการจัดการกับความขัดแย้ง
- เพิ่มความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจระหว่างคู่ค้า – แน่นอนว่าการทำสัญญาอย่างเป็นทางการ เป็นการแสดงถึงความจริงจังและความเป็นมืออาชีพในการทำธุรกิจ จึงสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้า ช่วยความสัมพันธ์ทางธุรกิจในระยะยาวยั่งยืน สถาบันการเงินหรือนักลงทุนมักให้ความสำคัญกับการมีสัญญาที่ถูกต้องครบถ้วนก่อนพิจารณาให้การสนับสนุนทางการเงิน
- กำหนดกรอบการแก้ไขข้อขัดแย้ง – สัญญาข้อตกลงที่ดี จะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น อาทิ การผิดสัญญา ชำระเงินล่าช้า หรือเกิดเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถทำตามสัญญาได้ ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีแนวทางชัดเจนในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
- สร้างหลักฐานทางกฎหมายที่ใช้บังคับได้ – สัญญาทางพาณิชย์ที่ทำขึ้นอย่างถูกต้องเป็นหลักฐานสำคัญที่สามารถใช้บังคับทางกฎหมายได้หากมีการฝ่าฝืนข้อตกลง ช่วยปกป้องผลประโยชน์ของคู่สัญญาและอำนวยความสะดวกในการเรียกร้องค่าเสียหายหรือการปฏิบัติตามสัญญา
ประเภทของสัญญาทางพาณิชย์ที่สำคัญ
โดยทั่วไปสัญญาทางพาณิชย์นั้นมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการทำข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้
1. สัญญาซื้อขาย
สัญญาซื้อขาย เป็นสัญญาพื้นฐานที่สุดในการทำธุรกิจ โดยเป็นข้อตกลงที่ผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงชำระราคาตามที่กำหนด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453 สัญญาซื้อขายเกิดจะขึ้นเมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันในเรื่องทรัพย์สินที่ซื้อขายและราคา
สัญญาซื้อขายในทางพาณิชย์มีลักษณะ คือ มุ่งเน้นการซื้อขายเพื่อการค้าและกำไร ซึ่งมักมีปริมาณมาก และเป็นการซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน อีกทั้งอาจมีเงื่อนไขพิเศษเกี่ยวกับการส่งมอบ การชำระเงิน และการรับประกันสินค้า
องค์ประกอบสำคัญของสัญญาซื้อขายทางพาณิชย์
- รายละเอียดของทรัพย์สินที่ซื้อขาย – ต้องระบุคุณลักษณะ ชนิด ประเภท ปริมาณ และคุณภาพของสินค้าให้ชัดเจน เพื่อป้องกันข้อพิพาทเกี่ยวกับลักษณะของสินค้าที่ส่งมอบ
- ราคาและเงื่อนไขการชำระเงิน – นอกจากราคาสินค้าแล้ว ควรระบุวิธีการชำระเงิน เช่น เงินสด เช็ค โอนเงิน หรือเลตเตอร์ออฟเครดิต รวมถึงกำหนดเวลาการชำระ เช่น ชำระล่วงหน้า ชำระเมื่อส่งมอบ หรือให้เครดิตเทอมกี่วัน
- กำหนดการและสถานที่ส่งมอบสินค้า – ระบุว่าจะส่งมอบเมื่อใด ที่ไหน โดยใช้วิธีการขนส่งแบบใด และใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าขนส่ง ในการค้าระหว่างประเทศอาจใช้ข้อกำหนดทางการค้าสากล (Incoterms) เช่น FOB, CIF, EXW เพื่อกำหนดความรับผิดชอบในการขนส่งและความเสี่ยงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
- การรับประกันสินค้า – ระบุระยะเวลาและเงื่อนไขการรับประกันคุณภาพสินค้า รวมถึงความรับผิดชอบของผู้ขายหากสินค้ามีความบกพร่องหรือไม่เป็นไปตามข้อกำหนด
- เงื่อนไขการยกเลิกสัญญา – กำหนดสถานการณ์ที่คู่สัญญาสามารถยกเลิกสัญญาได้ และผลที่จะตามมา เช่น การคืนเงินมัดจำ หรือค่าปรับกรณียกเลิกสัญญา
ตัวอย่างเช่น ในการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ สัญญาซื้อขายจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับพิธีการศุลกากร ภาษีนำเข้า-ส่งออก การตรวจสอบคุณภาพสินค้า และเอกสารที่จำเป็นสำหรับการส่งออกหรือนำเข้า ซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่าการซื้อขายภายในประเทศ
2. สัญญาการร่วมทุน
สัญญาการร่วมทุน (Joint Venture Agreement) เป็นข้อตกลงระหว่างสองฝ่ายขึ้นไปที่ตกลงร่วมกันดำเนินธุรกิจหรือโครงการเฉพาะ โดยมีการแบ่งปันทรัพยากร ความเสี่ยง และผลกำไร สัญญาการร่วมทุนมักนิยมใช้ในโครงการที่ต้องการเงินลงทุนจำนวนมาก ต้องการการรวมความเชี่ยวชาญจากหลายฝ่าย หรือต้องการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน
ลักษณะสำคัญของสัญญาการร่วมทุน
- วัตถุประสงค์และขอบเขตของการร่วมทุน: ระบุอย่างชัดเจนว่ากิจการร่วมค้านี้จัดตั้งขึ้นเพื่อทำอะไร มีขอบเขตการดำเนินงานอย่างไร และคาดหวังผลลัพธ์อะไร วัตถุประสงค์อาจเป็นโครงการเฉพาะ (เช่น การก่อสร้างทางด่วน) หรือเป็นธุรกิจต่อเนื่อง (เช่น การผลิตและจำหน่ายสินค้า)
- สัดส่วนการลงทุนและความรับผิดชอบ: กำหนดว่าแต่ละฝ่ายจะลงทุนอะไรบ้าง เป็นจำนวนเท่าไร และมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรในกิจการร่วมค้า การลงทุนอาจเป็นเงินทุน ทรัพย์สิน เทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ หรือทรัพยากรอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินโครงการ
- โครงสร้างการบริหารและกระบวนการตัดสินใจ: กำหนดว่าใครจะเป็นผู้บริหารกิจการร่วมค้า การตัดสินใจสำคัญต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ร่วมทุนทุกฝ่ายหรือไม่ และจะมีการประชุมผู้ร่วมทุนบ่อยแค่ไหน อาจมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารที่มีตัวแทนจากแต่ละฝ่าย
- การแบ่งผลกำไรและขาดทุน: ระบุสัดส่วนการแบ่งผลกำไรหรือการรับผิดชอบในผลขาดทุนของแต่ละฝ่าย ซึ่งอาจเป็นไปตามสัดส่วนการลงทุนหรือตามที่ตกลงกัน รวมถึงวิธีการจ่ายเงินปันผลและความถี่ในการจ่าย
- เงื่อนไขการสิ้นสุดของการร่วมทุน: กำหนดว่าการร่วมทุนจะสิ้นสุดเมื่อใด (เช่น เมื่อโครงการเสร็จสิ้น หรือเมื่อครบกำหนดระยะเวลา) และกระบวนการเลิกกิจการร่วมค้า รวมถึงการแบ่งทรัพย์สินที่เหลือ
- ข้อกำหนดเกี่ยวกับการโอนสิทธิและหน้าที่: ระบุว่าผู้ร่วมทุนสามารถโอนสิทธิและหน้าที่ของตนให้บุคคลอื่นได้หรือไม่ และภายใต้เงื่อนไขอย่างไร
โดยทั่วไป รูปแบบของกิจการร่วมค้า มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ
1. กิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (Unincorporated Joint Venture) – เกิดขึ้นจากข้อตกลงในสัญญาเท่านั้น ไม่มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลใหม่ มักใช้สำหรับโครงการระยะสั้นหรือโครงการเฉพาะกิจ ผู้ร่วมทุนแต่ละรายยังคงมีสถานะแยกจากกัน แต่ร่วมกันดำเนินกิจการตามสัญญา
2. กิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (Incorporated Joint Venture) – มีการจัดตั้งบริษัทหรือนิติบุคคลใหม่แยกต่างหากจากผู้ถือหุ้นหรือผู้ร่วมลงทุน มักใช้สำหรับธุรกิจที่ต้องการดำเนินการในระยะยาว นิติบุคคลใหม่นี้จะมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดที่แยกจากผู้ร่วมทุน
ในประเทศไทย กิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมักอยู่ในรูปของบริษัทจำกัดที่มีผู้ร่วมทุนเป็นผู้ถือหุ้น ส่วนกิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนก็ยังคงต้องจดทะเบียนกับกรมสรรพากร เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39
3. สัญญาเช่าทรัพย์และเช่าซื้อ
สัญญาเช่าทรัพย์
สัญญาเช่าทรัพย์ คือ ข้อตกลงที่ผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินในระยะเวลาที่กำหนด โดยผู้เช่าตกลงชำระค่าเช่าตามเงื่อนไข ทั้งนี้ ในเชิงพาณิชย์ สัญญาเช่ามักเกี่ยวข้องกับการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบธุรกิจ หรือการเช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์
องค์ประกอบสำคัญของสัญญาเช่าทรัพย์ทางพาณิชย์ ได้แก่
- รายละเอียดของทรัพย์สินที่เช่า
- ระยะเวลาการเช่าและเงื่อนไขการต่อสัญญา
- อัตราค่าเช่าและวิธีการชำระ
- สิทธิและหน้าที่ของผู้ให้เช่าและผู้เช่า
- เงื่อนไขการบอกเลิกสัญญา
- การประกันภัยและความรับผิดชอบต่อความเสียหาย
สัญญาเช่าทรัพย์ในทางพาณิชย์อาจมีข้อกำหนดเพิ่มเติม เช่น การให้สิทธิผู้เช่าในการปรับปรุงหรือดัดแปลงทรัพย์สินเพื่อใช้ในธุรกิจ ข้อจำกัดในการโอนสิทธิการเช่าหรือการให้เช่าช่วง และเงื่อนไขเกี่ยวกับการคืนทรัพย์สินเมื่อสิ้นสุดสัญญา
สัญญาเช่าซื้อ
สัญญาเช่าซื้อ คือ สัญญาที่ผสมผสานระหว่างการเช่าและการซื้อขาย โดยผู้เช่าซื้อมีสิทธิใช้ทรัพย์สิน และจะได้รับกรรมสิทธิ์เมื่อชำระค่างวดครบตามกำหนด ซึ่งสัญญาประเภทนี้นิยมใช้ในการซื้อสินค้าทุนมูลค่าสูง เช่น เครื่องจักรโรงงาน ยานพาหนะ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์
องค์ประกอบสำคัญของสัญญาเช่าซื้อ ได้แก่
- รายละเอียดของทรัพย์สินที่เช่าซื้อ
- ราคาเช่าซื้อและเงินดาวน์
- จำนวนงวดการผ่อนชำระและจำนวนเงินต่องวด
- อัตราดอกเบี้ย
- เงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์
- สิทธิและหน้าที่ของผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อ
- เงื่อนไขการบอกเลิกสัญญาและการยึดทรัพย์
สัญญาเช่าซื้อช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีเงินทุนจำกัดสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ โดยทยอยชำระค่าสินทรัพย์นั้นจากกระแสเงินสดที่ธุรกิจสร้างขึ้น ในขณะเดียวกัน ผู้ให้เช่าซื้อก็มีหลักประกันคือตัวทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อ
4. สัญญาการลงทุน
สัญญาการลงทุน (Investment Agreement) เป็นข้อตกลงระหว่างนักลงทุนกับบริษัทที่ระบุเงื่อนไขการลงทุน เช่น การออกหุ้น สิทธิของนักลงทุน และการมีส่วนร่วมในการบริหาร สัญญาประเภทนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพและธุรกิจที่ต้องการระดมทุนจากนักลงทุนภายนอก
องค์ประกอบสำคัญของสัญญาการลงทุน
- รายละเอียดของการลงทุน – ระบุจำนวนเงินลงทุน จำนวนหุ้นที่จะออกให้นักลงทุน ประเภทของหุ้น และมูลค่าของบริษัท (Valuation) การกำหนดมูลค่าบริษัทเป็นประเด็นสำคัญที่มักมีการเจรจาอย่างละเอียดระหว่างนักลงทุนและผู้ก่อตั้งบริษัท
- เงื่อนไขเบื้องต้นของการลงทุน – กำหนดเงื่อนไขที่ต้องทำให้สำเร็จก่อนที่การลงทุนจะเกิดขึ้นจริง เช่น การตรวจสอบสถานะทางการเงิน (Due Diligence) การได้รับอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล หรือการบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจบางประการ
- สิทธิและข้อจำกัดเกี่ยวกับหุ้น – ระบุสิทธิพิเศษของหุ้นที่นักลงทุนได้รับ เช่น สิทธิในการได้รับเงินปันผลก่อน สิทธิในการออกเสียง สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน (Pre-Emptive Right) หรือข้อจำกัดในการโอนหุ้น
- การมีส่วนร่วมในการบริหาร – กำหนดบทบาทของนักลงทุนในการบริหารบริษัท เช่น สิทธิในการแต่งตั้งกรรมการ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของบริษัท หรือการมีสิทธิยับยั้ง (Veto Right) ในการตัดสินใจสำคัญ
- เงื่อนไขการถอนการลงทุน (Exit Strategy) – ระบุทางเลือกสำหรับนักลงทุนในการออกจากการลงทุน เช่น การขายหุ้นให้ผู้ถือหุ้นรายอื่น การเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะ (IPO) หรือการขายกิจการทั้งหมด
- การคุ้มครองนักลงทุน – กำหนดกลไกที่ช่วยปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุน เช่น การรับรองและรับประกัน (Representations and Warranties) ข้อตกลงไม่แข่งขัน (Non-compete) หรือการคำนวณมูลค่าหุ้นแบบถ่วงน้ำหนัก (Anti-Dilution Protection)
สัญญาการลงทุน มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความชัดเจนระหว่างบริษัทและนักลงทุน การไม่มีสัญญาการลงทุนที่ชัดเจนอาจนำไปสู่ข้อพิพาทเกี่ยวกับลักษณะของเงินที่โอนให้บริษัท เช่น อาจเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเงินกู้หรือเงินฝาก แทนที่จะเป็นเงินลงทุน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อทั้งบริษัทและนักลงทุน
5. สัญญาจ้างทำของและสัญญาจ้างแรงงาน
สัญญาจ้างทำของ
สัญญาจ้างทำของ คือ สัญญาที่ผู้รับจ้างตกลงจะทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จเพื่อผู้ว่าจ้าง โดยผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างตอบแทน สัญญาประเภทนี้เน้นที่ผลสำเร็จของงานมากกว่ากระบวนการทำงาน ตัวอย่างของสัญญาจ้างทำของทางพาณิชย์ ได้แก่ สัญญาจ้างก่อสร้าง สัญญาจ้างออกแบบ สัญญาจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือสัญญาจ้างผลิตสินค้า
สัญญาจ้างแรงงาน
สัญญาจ้างแรงงาน คือ สัญญาที่ลูกจ้างตกลงทำงานให้นายจ้างโดยอยู่ภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของนายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน สัญญาประเภทนี้เน้นที่ความสัมพันธ์และการทำงานต่อเนื่อง ทั้งนี้ สัญญาจ้างแรงงานในทางพาณิชย์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายประกันสังคม ซึ่งกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการจ้างงาน เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ วันหยุดขั้นต่ำ และการจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง
องค์ประกอบสำคัญของสัญญาทางพาณิชย์
เพื่อให้สัญญาทางพาณิชย์สมบูรณ์และมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ในหนังสือสัญญาควรมีองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้
1. คู่สัญญา
ต้องระบุชื่อ ที่อยู่ และสถานะทางกฎหมายของคู่สัญญาให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคู่สัญญาเป็นนิติบุคคล ควรระบุชื่อบริษัท เลขทะเบียนนิติบุคคล และผู้มีอำนาจลงนามแทนบริษัท การระบุข้อมูลที่ถูกต้องช่วยป้องกันปัญหาเกี่ยวกับตัวตนของคู่สัญญาและอำนาจในการทำสัญญา
2. คำเสนอและคำสนอง
สัญญาทางพาณิชย์จะเกิดขึ้นเมื่อมีการตกลงยินยอมของทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งทำคำเสนอ (Offer) และอีกฝ่ายตอบรับคำเสนอนั้น (Acceptance) โดยคำเสนอต้องมีความชัดเจนและแน่นอนพอที่จะก่อให้เกิดความผูกพันทางกฎหมายเมื่อมีการสนองรับ ส่วนการสนองรับต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของคำเสนอโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ
3. สิ่งตอบแทน
ในระบบกฎหมายหลายประเทศ โดยเฉพาะระบบ Common Law สัญญาต้องมีสิ่งตอบแทน (Consideration) จึงจะมีผลบังคับใช้ได้ สิ่งตอบแทนคือมูลค่าที่แลกเปลี่ยนระหว่างคู่สัญญา เช่น เงิน สินค้า บริการ หรือการงดเว้นการกระทำบางอย่าง สัญญาที่ไม่มีสิ่งตอบแทนอาจถูกพิจารณาว่าเป็นเพียงคำมั่นสัญญา (Promise) ที่ไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย
4. ความสามารถในการทำสัญญา
คู่สัญญาต้องมีความสามารถตามกฎหมายในการทำสัญญา บุคคลธรรมดาต้องบรรลุนิติภาวะและไม่เป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ สำหรับนิติบุคคล ผู้ลงนามต้องมีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น และการทำสัญญาต้องอยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล
5. วัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย
สัญญาต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาที่มีวัตถุประสงค์ผิดกฎหมาย เช่น สัญญาซื้อขายสิ่งผิดกฎหมาย หรือสัญญาที่ส่งเสริมการฉ้อโกง จะไม่มีผลบังคับใช้และอาจมีความผิดทางอาญา
6. ข้อกำหนดและเงื่อนไข
ส่วนนี้เป็นหัวใจของสัญญา ระบุรายละเอียดของสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของคู่สัญญา เช่น:
- รายละเอียดของสินค้าหรือบริการ
- ราคาและเงื่อนไขการชำระเงิน
- กำหนดเวลาการส่งมอบหรือการให้บริการ
- มาตรฐานคุณภาพและการรับประกัน
- ข้อตกลงเกี่ยวกับการรักษาความลับ
- ข้อจำกัดความรับผิด
- เงื่อนไขการยกเลิกสัญญา
- วิธีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญา
- กฎหมายที่ใช้บังคับและเขตอำนาจศาล
7. การลงนามและวันที่
สัญญาต้องมีการลงนามโดยคู่สัญญาหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทน และควรระบุวันที่ที่สัญญามีผลบังคับใช้ การลงนามเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าคู่สัญญายอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญา ในสัญญาทางพาณิชย์ที่มีความซับซ้อน อาจมีการลงนามต่อหน้าพยานเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ
ความแตกต่างของสัญญาในระบบกฎหมายต่างๆ

รายละเอียดที่ระบุในสัญญาที่มีผลบังคับทางกฎหมาย อาจแตกต่างกันไปตามกฎข้อบังคับของแต่ละประเทศ ดังนั้น ในการทำสัญญา ต้องคำนึงถึงความแตกต่างของระบบกฎหมายในแต่ละประเทศ ซึ่งอาจมีผลต่อการตีความและการบังคับใช้สัญญา
กฎหมายไทย
ประเทศไทยใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) โดยสัญญาจะสมบูรณ์เมื่อคู่สัญญามีความสามารถตามกฎหมาย มีคำเสนอและคำสนองที่ถูกต้องตรงกัน และวัตถุประสงค์ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยกำหนดหลักเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับสัญญาไว้ในบรรพ 1 (ว่าด้วยหลักทั่วไป) และบรรพ 2 (ว่าด้วยหนี้) และกำหนดเอกเทศสัญญาเฉพาะประเภทไว้ในบรรพ 3 (ว่าด้วยเอกเทศสัญญา) โดยยึดหลักเสรีภาพในการทำสัญญา แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นในกรณีที่สัญญาไม่เป็นธรรม ซึ่งศาลมีอำนาจพิจารณาและปรับให้มีผลบังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540
กฎหมายฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสใช้ระบบกฎหมาย Civil Law เช่นเดียวกับไทย แต่มีความแตกต่างในรายละเอียด กฎหมายฝรั่งเศสเน้นที่เจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญามากกว่าเจตนาที่แสดงออก เมื่อมีข้อสงสัยในการตีความสัญญา ศาลฝรั่งเศสจะพิจารณาจากเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญามากกว่าความหมายตามตัวอักษร
ฝรั่งเศสไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับนิติกรรมโดยเฉพาะเหมือนประเทศไทยหรือเยอรมัน แต่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับสัญญาโดยตรง และในการพิจารณาความเป็นธรรมของสัญญา ฝรั่งเศสมี “คณะกรรมการควบคุมสัญญา” ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อสัญญาใดเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
กฎหมายอังกฤษ
อังกฤษใช้ระบบกฎหมาย Common Law ซึ่งแตกต่างจากระบบ Civil Law ในหลายประการ โดยสัญญาตามกฎหมายอังกฤษต้องมี “สิ่งตอบแทน” (Consideration) จึงจะมีผลบังคับใช้ได้ ยกเว้นในกรณีที่เป็นสัญญาที่ทำเป็นตราสาร (Deed)
อีกทั้ง กฎหมายอังกฤษยังให้ความสำคัญกับตัวอักษรในสัญญา (Literal Interpretation) มากกว่าเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญา และเน้นความแน่นอนของสัญญาเพื่อความมั่นคงในการทำธุรกิจ กล่าวได้ว่า หลักการตีความสัญญาของอังกฤษนั้นเคร่งครัดมากกว่าระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร
ในด้านการควบคุมความเป็นธรรมของสัญญา ประเทศอังกฤษมีกฎหมายเฉพาะอย่าง The Unfair Contract Term Act 1977 ที่ควบคุมการจำกัดความรับผิดของคู่สัญญาและคุ้มครองคู่สัญญาที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า
กฎหมายเยอรมัน
เยอรมนีใช้ระบบกฎหมาย Civil Law และมีแนวคิดทางกฎหมายที่เป็นระบบและมีเหตุผลเชิงทฤษฎีสูง กฎหมายเยอรมันถือว่าสัญญาเป็นนิติกรรมประเภทหนึ่ง และให้ความสำคัญกับการแสดงเจตนาที่ชัดเจน
ในการตีความสัญญา กฎหมายเยอรมันจะพิจารณาทั้งเจตนาที่แสดงออกและเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญา โดยคำนึงถึงหลักความสุจริตและความซื่อสัตย์ในการตีความและปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งศาลเยอรมันมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาความสมบูรณ์ของสัญญา และปรับให้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมมีผลบังคับเพียงเท่าที่เหมาะสม
การเจรจาสัญญาทางพาณิชย์อย่างมีประสิทธิภาพ
การเจรจาสัญญาที่มีประสิทธิภาพเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างข้อตกลงทางการค้าที่เป็นธรรมและยั่งยืน การเจรจาสัญญาที่ดีไม่ใช่เพียงการพยายามเอาเปรียบอีกฝ่าย แต่เป็นการหาจุดสมดุลที่สร้างประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย และนำไปสู่ความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง
1. การเตรียมตัวล่วงหน้า
การเตรียมตัวที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการเจรจา ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมที่จะทำ ตลาด คู่เจรจา และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กำหนดวัตถุประสงค์ ขอบเขต และเงื่อนไขที่ยอมรับได้ให้ชัดเจน รวมถึงพิจารณาทางเลือกอื่นหากการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ เช่น การไกล่เกลี่ย เป็นต้น
2. การสื่อสารที่ชัดเจน
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเป็นกุญแจสำคัญของการเจรจาที่ประสบความสำเร็จ โดยควรระบุความต้องการในสัญญาอย่างตรงไปตรงมา ใช้ภาษาที่ชัดเจนไม่คลุมเครือ และหลีกเลี่ยงคำศัพท์เฉพาะทางที่อีกฝ่ายอาจไม่เข้าใจ
3. ให้ความสำคัญกับรายละเอียด
รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในสัญญาอาจมีผลกระทบในภายหลัง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบเงื่อนไขและข้อกำหนดอย่างละเอียดเพื่อให้มั่นใจว่าตรงกับความเข้าใจและข้อตกลงที่ได้เจรจากันไว้ โดยควรตรวจสอบความชัดเจนของภาษาและคำนิยามในสัญญา ขอบเขตของสินค้าหรือบริการที่จะส่งมอบ เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกสัญญา รวมถึงกฎหมายที่ใช้บังคับและวิธีการระงับข้อพิพาท เป็นต้น
4. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย
สัญญาทางพาณิชย์มักมีความซับซ้อนและมีผลกระทบทางกฎหมายที่สำคัญ โดยธุรกิจควรขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น ทนายความ นักบัญชี หรือที่ปรึกษาธุรกิจ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสัญญาที่ทำขึ้นสอดคล้องกับกฎหมายและปกป้องผลประโยชน์ของทุกฝ่าย
การระงับข้อพิพาทในสัญญาทางพาณิชย์
แม้จะมีการทำสัญญาที่รัดกุม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อพิพาททางธุรกิจก็อาจเกิดขึ้นได้จากความเข้าใจผิด หรือสถานการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเมื่อเกิดข้อพิพาทจากสัญญาทางพาณิชย์ มีหลายวิธีในการระงับข้อพิพาท เช่น
1. การเจรจาต่อรอง
การเจรจาโดยตรงระหว่างคู่สัญญาเป็นวิธีที่รวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุดในการระงับข้อพิพาท ซึ่งคู่สัญญาสามารถพูดคุยกันเพื่อหาทางออกที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยบุคคลที่สามในการต่อรอง
2. การไกล่เกลี่ย
การไกล่เกลี่ย (Mediation) เป็นกระบวนการที่มีบุคคลที่สามที่เป็นกลาง (ผู้ไกล่เกลี่ย) ช่วยอำนวยความสะดวกในการเจรจาระหว่างคู่พิพาท ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการไกล่เกลี่ยคดีอาญาหรือคดีแพ่ง ผู้ไกล่เกลี่ยจะไม่มีอำนาจตัดสินข้อพิพาท แต่ช่วยให้คู่พิพาทสามารถสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพและหาทางออกร่วมกันได้อย่างลงตัว
3. การประนีประนอม
การประนีประนอม (Compromise) คือ กระบวนการที่คู่กรณีพยายามหาข้อตกลงร่วมกัน โดยอาจลดข้อเรียกร้องบางส่วนเพื่อหาทางออกที่ลงตัว ซึ่งการประนีประนอมอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการเจรจาต่อรอง การไกล่เกลี่ย หรือแม้แต่ระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาล
4. การอนุญาโตตุลาการ
การอนุญาโตตุลาการเป็นกระบวนการระงับข้อพิพาทที่มีบุคคลที่สามที่เป็นกลางและเป็นอิสระ โดยทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ซึ่งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีผลผูกพันทางกฎหมายที่คู่พิพาทต้องปฏิบัติตาม การอนุญาโตตุลาการเป็นทางเลือกที่นิยมมากในการระงับข้อพิพาททางธุรกิจ โดยเฉพาะในธุรกรรมระหว่างประเทศ
5. การดำเนินคดีในศาล
การฟ้องร้องต่อศาลเป็นวิธีการระงับข้อพิพาทแบบดั้งเดิมที่มีกระบวนการเป็นทางการและมีผลบังคับทางกฎหมาย ซึ่งการดำเนินคดีในศาลมักเป็นทางเลือกสุดท้ายของธุรกิจ เมื่อวิธีอื่นๆ ไม่สามารถระงับข้อพิพาทได้
สัญญาทางพาณิชย์ เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่ช่วยสร้างความชัดเจน ความไว้วางใจ และกรอบการปฏิบัติตามกฎหมายในความสัมพันธ์ทางธุรกิจ การทำความเข้าใจรูปแบบ องค์ประกอบ และกระบวนการเจรจาสัญญาทางพาณิชย์จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงและสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการทำสัญญาที่รัดกุม แต่ข้อพิพาททางธุรกิจก็สามารถเกิดขึ้นได้ การอนุญาโตตุลาการเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการระงับข้อพิพาทจากสัญญาทางพาณิชย์ โดยสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) พร้อมให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีมาตรฐานสากล สะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย
เกี่ยวกับ THAC
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงง่าย สะดวก และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ทาง
อีเมล: [email protected]