
ภาษีธุรกิจ ภาษีธุรกิจเฉพาะคืออะไร กิจการแบบใดต้องเสียภาษี

สำหรับคนทำธุรกิจ บริษัท หรือนิติบุคคล แน่นอนว่าต้องมีการเสียภาษีธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายให้แก่กรมสรรพากรเพื่อปฏิบัติตามกฎข้อบังคับอย่างถูกต้อง และวางแผนดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบทความนี้จะพาคุณไปเจาะลึกแง่มุมของภาษีธุรกิจเฉพาะ ตั้งแต่ความหมาย กิจการที่เกี่ยวข้อง ประเภทของภาษีธุรกิจ การยื่นภาษีธุรกิจ ไปจนถึงข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นและการไกล่เกลี่ย
6 ประเภทภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
ผู้ประกอบการธุรกิจจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีประเภทต่างๆ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเงินทุนของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ วางแผนภาษีได้อย่างถูกต้อง และหลีกเลี่ยงปัญหาทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น โดยมีรูปแบบภาษีธุรกิจควรรู้ ดังนี้
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ ภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทั้งในรูปแบบบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน โดยกรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บเพื่อนำส่งรายได้ให้รัฐบาล
โดยบริษัทต้องยื่นแบบและชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ ภาษีเงินได้ครึ่งปีโดยใช้แบบ ภ.ง.ด. 51 และภาษีเงินได้ประจำปีโดยใช้แบบ ภ.ง.ด. 50 ซึ่งฐานภาษีจะคำนวณจาก “กำไรสุทธิทางภาษี” หรือผลกำไรของบริษัท ดังนั้นบริษัทหรือผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต้องจัดทำบัญชีที่ชัดเจน รับรู้ต้นทุนและรายได้อย่างถูกต้องเพื่อคำนวณผลกำไรที่แท้จริง เพื่อช่วยให้บริษัทไม่ต้องเสียภาษีมากเกินไป หรือเสียภาษีไม่ตรงกับรายได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดคดีความในอนาคต
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT คือ ภาษีที่เก็บเพิ่มจากราคาสินค้าหรือบริการที่คิดกับลูกค้า ปัจจุบันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 7% โดยผู้ประกอบการที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร ซึ่งต้องยื่นแบบและชำระภาษีทุกเดือนโดยใช้แบบ ภ.พ.30 (เอกสารสรุปภาษีซื้อ-ภาษีขาย) การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเป็นการนำ “ภาษีขายลบภาษีซื้อ” ถ้าในเดือนใด ภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ผู้ประกอบการต้องจ่ายส่วนต่างให้กรมสรรพากร แต่ถ้า ภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย สามารถขอคืนได้หรือเก็บเป็นเครดิตไว้หักลบในเดือนถัดไป ดังนั้น การบันทึกภาษีซื้ออย่างถูกต้องจึงมีความสำคัญมาก เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการขอคืนภาษี
3. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ ภาษีที่ผู้จ่ายเงินต้องหักจากผู้รับเงินไว้บางส่วนเพื่อนำส่งให้รัฐ เป็นการทยอยเก็บภาษีล่วงหน้าและช่วยลดภาระภาษีปลายปีของผู้มีเงินได้ โดยใช้แบบ ภ.ง.ด.3 สำหรับการหักภาษีจากบุคคลธรรมดา หรือ ภ.ง.ด.53 สำหรับการหักภาษีจากนิติบุคคล ทั้งนี้ อัตราภาษีจะแตกต่างกันตามประเภทของการจ่ายเงิน เช่น ค่าบริการ หัก 3% ค่าเช่า หัก 5% ส่วนค่าขนส่ง หัก 1% ซึ่งผู้หักภาษีต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้ถูกหัก เพื่อให้ผู้ถูกหักสามารถนำไปขอคืนจากรัฐหรือใช้ลดภาระภาษีได้
4. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
ภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากธุรกิจบางประเภทเท่านั้น โดยเฉพาะธุรกิจที่ไม่เหมาะจะเสียภาษีในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ธนาคารพาณิชย์ธุรกิจเงินทุน หลักทรัพย์ และเครดิตฟองซิเอร์ ธุรกิจประกันชีวิต โรงรับจำนำ การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร และธุรกิจที่คล้ายกับธนาคารพาณิชย์
ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเข้าข่ายประเภทเหล่านี้จำเป็นต้องศึกษากฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องให้ละเอียด เพื่อปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและไม่เกิดข้อผิดพลาดในการยื่นภาษี
5. ภาษีป้าย
ภาษีป้าย คือ ภาษีที่เก็บจากการแสดงป้ายที่ใช้ในการประกอบธุรกิจหรือโฆษณาเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษร ภาพ หรือสัญลักษณ์ บนวัสดุใดๆ โดยป้ายบางชนิดอาจได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การไม่เสียภาษีป้ายภายในกำหนดมีโทษปรับวันละ 100 บาท และหากจงใจไม่ยื่นแบบประเมินภาษีป้าย โทษปรับอาจสูงถึง 5,000 – 50,000 บาท
6. อากรแสตมป์
อากรแสตมป์ คือ ภาษีที่รัฐจัดเก็บจากการทำตราสาร (เอกสารแสดงสิทธิ์) หรือสัญญาบางประเภท จัดเก็บในรูปแบบของดวงแสตมป์ที่ติดบนเอกสารหรือสัญญา ธุรกิจต้องเสียค่าอากรแสตมป์เมื่อทำธุรกรรมบางอย่าง เช่น สัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ สัญญาจ้างทำของ หรือสัญญากู้ยืมเงิน โดยสามารถซื้อดวงอากรแสตมป์ได้ที่กรมสรรพากร
ภาษีธุรกิจเฉพาะคืออะไร
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ภาษีธุรกิจเฉพาะ หมายถึง ภาษีที่เก็บจากกิจการบางประเภทตามที่กฎหมายกำหนดเป็นพิเศษ โดยเป็นภาษีที่แยกออกมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งกรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บภาษีดังกล่าวนี้ ทั้งในรูปแบบของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
ภาษีธุรกิจเฉพาะเริ่มใช้บังคับในปี พ.ศ. 2535 แทนภาษีการค้าที่ถูกยกเลิกไป เพื่ออุดช่องโหว่ในกรณีที่กิจการบางประเภท เช่น ธุรกิจการเงิน ที่ประเมินมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือให้บริการได้ยาก จึงไม่สามารถใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มได้
ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่เริ่มกิจการ ด้วยการยื่นแบบคำขอ ภ.ธ.01 โดยเป็นภาษีทางอ้อมที่ผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระภาษี และผู้ประกอบการมีหน้าที่ผลักภาระภาษีให้ผู้บริโภคและนำส่งให้กรมสรรพากร
กิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ กฎหมายได้กำหนดประเภทกิจการที่ต้องเสียภาษีนี้ไว้อย่างชัดเจน โดยผู้ประกอบการควรตรวจสอบว่าธุรกิจของตนเข้าข่ายต้องเสียภาษีประเภทนี้หรือไม่ เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้องและหลีกเลี่ยงปัญหาในอนาคต ซึ่งประเภทของภาษีธุรกิจที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่
1. กิจการธนาคารและสถาบันการเงิน – รวมถึงการให้บริการทางการเงินต่างๆ เช่น บริการฝาก-ถอนเงิน โอนเงิน แลกเปลี่ยนเงินตรา
2. ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ – ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุน การซื้อขายหลักทรัพย์ และการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
3. ธุรกิจประกันชีวิต – ครอบคลุมการรับประกันชีวิตในรูปแบบต่างๆ
4. กิจการโรงรับจำนำ – ธุรกิจที่ให้บริการรับจำนำทรัพย์สินเพื่อแลกกับเงินกู้
5. การประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ – เช่น การให้กู้ยืมเงิน การค้ำประกัน การแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมถึงบัญชีลี้ลับที่มีชื่อว่า “เงินให้กู้ยืมกรรมการ” ซึ่งต้องมีการคิดดอกเบี้ยจากกรรมการและจะกลายเป็นธุรกรรมที่เข้าข่ายการทำธุรกิจเยี่ยงธนาคาร
6. การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการค้าหรือหากำไร – เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ
7. การซื้อขายคืนหลักทรัพย์ – ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดทุน
8. ธุรกิจแฟ็กเตอริง (Factoring) – เป็นธุรกิจที่ลูกค้าตกลงจะโอนหนี้ทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง โดยผู้ประกอบการธุรกิจแฟ็กเตอริงจะให้สินเชื่อและดำเนินการบริหารลูกหนี้ การเรียกเก็บหนี้ เป็นต้น

ฐานและอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ
ฐานภาษีที่ใช้ในการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ คือรายรับก่อนหักค่าใช้จ่าย ทั้งจากในและนอกราชอาณาจักร โดยคำนวณจากรายรับของแต่ละประเภทธุรกิจที่กฎหมายกำหนดคูณด้วยอัตราภาษีที่กำหนด
อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะแตกต่างกันไปตามประเภทของกิจการ ตัวอย่างเช่น
- กิจการธนาคาร ธุรกิจเงินทุน – 3.0% (ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม หรือกำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการซื้อหรือขายตั๋วเงินหรือตราสาร)
- ธุรกิจประกันชีวิต – 2.5% (ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม)
- กิจการโรงรับจำนำ – 2.5% (ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม)
- การค้าอสังหาริมทรัพย์ – 3.0% (รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ)
- การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ – 0.1% (ยกเว้น)
- ธุรกิจแฟ็กเตอริง – 3.0% (ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม)
อัตราภาษีเหล่านี้จะรวมกับภาษีท้องถิ่นอีกร้อยละ 10 ของจำนวนภาษีธุรกิจเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น การขายอสังหาริมทรัพย์มีอัตราภาษี 3.0% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่นแล้วจะเท่ากับ 3.3%
การยื่นภาษีธุรกิจเฉพาะ
การยื่นภาษีธุรกิจเฉพาะมีขั้นตอนและกระบวนการเฉพาะที่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตาม โดยควรทำตามอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างครบถ้วน และหลีกเลี่ยงบทลงโทษที่อาจเกิดขึ้น
1. การจดทะเบียน – ผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มกิจการ โดยใช้แบบ ภ.ธ.01
2. การยื่นแบบแสดงรายการ – ผู้ประกอบการต้องยื่นแบบแสดงรายการด้วยแบบ ภ.ธ.40 โดยแสดงประเภทกิจการ จำนวนเงินรายรับ จำนวนเงินภาษี และภาษีท้องถิ่นร้อยละ 10
3. กำหนดเวลายื่น – ยื่นแบบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าจะมีรายรับในเดือนนั้นหรือไม่
4. สถานที่ยื่น – สามารถยื่นได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องถิ่น หรือยื่นทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร
5. ขยายเวลายื่น – หากยื่นทางออนไลน์ จะได้รับสิทธิขยายเวลายื่นและชำระภาษีออกไปอีก 8 วัน
6. ข้อยกเว้น – หากภาษีในเดือนใดไม่ถึง 100 บาท ไม่ต้องเสียภาษีในเดือนนั้น แต่ยังต้องยื่นแบบแสดงรายการ
ข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นในการทำภาษีธุรกิจ
ในการเสียภาษีธุรกิจ บางครั้งอาจมีโอกาสนำมาซึ่งข้อพิพาทระหว่างผู้ประกอบการกับหน่วยงานรัฐได้ในหลายกรณี เช่น
1. ข้อพิพาทระหว่างธุรกิจและกรมสรรพากร
- การประเมินภาษีที่ไม่ถูกต้อง – กรมสรรพากรอาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผิดพลาด
- การอุทธรณ์และการถอนฟ้อง – การถอนฟ้องอาจทำให้การอุทธรณ์ไม่เป็นผล ทำให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นที่สิ้นสุด
2. ข้อพิพาทเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ
- การตีความว่าการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นการขายเพื่อการค้าหรือไม่ – การขายที่ดินอาจถูกตีความว่าเป็นการขายในทางค้าหรือหากำไร ซึ่งต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
- การยึดทรัพย์เพื่อชำระภาษี – หากไม่ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ เจ้าพนักงานอาจมีอำนาจยึดทรัพย์เพื่อชำระภาษีค้าง
3. ข้อพิพาททางกฎหมาย
- คดีในศาลภาษีอากรกลาง – เช่น คดีที่บริษัทยื่นฟ้องร้องเกี่ยวกับภาษีและเงินเพิ่มที่ได้ชำระไป
- การยื่นฎีกา – การยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้พิจารณาคดีใหม่ อาจทำให้คดียืดเยื้อและซับซ้อนมากขึ้น
4. ข้อพิพาทเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- การหักค่าใช้จ่าย – การหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาจไม่เป็นที่ยอมรับของกรมสรรพากร
5. ข้อพิพาทเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
- การจดทะเบียน VAT: ธุรกิจที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีต้องจดทะเบียน VAT หากไม่ปฏิบัติตามอาจถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม
- การเก็บและนำส่ง VAT: การเก็บ VAT จากลูกค้าและนำส่งให้กรมสรรพากรอาจเกิดข้อผิดพลาด
ไม่ว่าจะเป็นการตีความกฎหมาย การประเมินภาษี หรือการขอคืนภาษี ความเข้าใจในประเด็นข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการเตรียมตัวและหาแนวทางป้องกันหรือแก้ไขได้อย่างเหมาะสม
การมีความรู้เรื่องภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการทุกราย ความเข้าใจในกฎระเบียบและขั้นตอนต่างๆ จะช่วยให้สามารถวางแผนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และหลีกเลี่ยงปัญหาทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ หากมีคดีข้อพิพาทเกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับภาษีธุรกิจ ผู้ประกอบการสามารถเจรจา ไกล่เกลี่ย ประนีประนอมยอมความ หรืออนุญาโตตุลาการ เพื่อหาทางออกร่วมกันกับภาครัฐ และดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผลกำไรหรือชื่อเสียง ซึ่งสามารถปรึกษาทนายความที่มีความเชี่ยวชาญในด้านภาษีธุรกิจ หรือสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) พร้อมให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีมาตรฐานสากล สะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย
เกี่ยวกับ THAC
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ ไกล่เกลี่ยคดีอาญา และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงง่าย สะดวก และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ทาง
อีเมล: [email protected]