
รู้ไว้ไม่เสียหาย! เป็นหนี้บัตรเครดิตโดนฟ้องควรทำอย่างไรดี?

ในยุคสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) การจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันนั้นอาศัยช่องทางดิจิทัลเป็นส่วนมาก รวมไปถึงการใช้ “บัตรเครดิต” ที่ถือเป็นช่องทางหลักของใครหลายๆ คนในการซื้อสินค้าหรือเข้าใช้บริการตามวงเงินที่ธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรอนุมัติ จากนั้นก็จะมีการเรียกเก็บเงินคืน โดยออกใบแจ้งหนี้ในแต่ละรอบบิล หากผู้ถือบัตรบริหารจัดการเงินได้ไม่ดีก็อาจเป็นหนี้บัตรเครดิตจนโดนฟ้องร้องได้ ซึ่งอาจถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล หรือยึดทรัพย์เลยทีเดียว
วันนี้ THAC จึงจะมาแนะนำให้ผู้อ่านทราบเกี่ยวกับการ “โดนฟ้องบัตรเครดิต” ว่าเป็นหนี้บัตรเครดิตเท่าไหร่ถึงโดนฟ้อง ต้องขึ้นศาลไหม แล้วจะสามารถไกล่เกลี่ยได้หรือไม่?
ไม่จ่ายหนี้บัตรเครดิต มีผลอย่างไรต่อผู้ถือบัตร?
เป็นที่ทราบกันดีว่า หากลูกค้าบัตรเครดิตไม่ชำระคืนหรือชำระหนี้ไม่ตรงกำหนดเวลา ธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรจะทำการเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในงวดถัดไป หรือในกรณีที่ผู้ถือบัตรเลือกชำระเฉพาะขั้นต่ำในทุกๆ เดือน ส่งผลให้ธนาคารเรียกเก็บดอกเบี้ยเพิ่มเติมจนกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่ได้ และอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดหนี้เสีย (NPL) ก็คือวินัยในการใช้จ่ายและการชำระหนี้นั่นเอง โดยผลที่ตามมาจากการไม่จ่ายหนี้ ได้แก่
- การทวงถามหนี้จากสถาบันทางการเงิน ผ่านช่องทางการติดต่อต่างๆ เช่น การส่งจดหมาย ข้อความ SMS และโทรศัพท์จากธนาคาร
- เครดิตเสียหาย เพราะธนาคารจะรายงานข้อมูลการค้างชำระหนี้ไปยัง บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ทำให้ประวัติการเงินเสีย จนอาจถึงขั้นติดแบล็กลิสต์เลยทีเดียว
- ถูกฟ้องร้องจากสถาบันการเงิน จนถึงขั้นต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ทำให้เสียทั้งเวลาและเงิน
- ถูกอายัดเงินหรือยึดทรัพย์ เพื่อนำไปจ่ายหนี้สินคงค้าง
เป็นหนี้บัตรเครดิตเท่าไหร่ถึงโดนฟ้อง?
ตามข้อกฎหมาย คดีความหนี้สินจะเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันแรกที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ โดยต้องมีจำนวนหนี้ขั้นต่ำอยู่ที่ 2,000 บาทขึ้นไปจึงจะสามารถส่งฟ้องขอหมายศาลได้ นั่นหมายความว่า เพียงแค่จ่ายหนี้บัตรไม่ตรงตามกำหนดเวลาก็โดนฟ้องบัตรเครดิตได้แล้ว ซึ่งคดีหนีบัตรเครดิตเป็นคดีแพ่ง มีอายุความทั้งสิ้น 2 ปี นับจากวันที่ผิดนัดชำระ หากเจ้าหนี้หรือธนาคารไม่ดำเนินการฟ้องร้องภายในระยะเวลาดังกล่าว คดีก็ถือเป็นขาดอายุความ
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าธนาคารจะดำเนินการฟ้องร้องทันทีที่เราขาดการชำระหนี้ ซึ่งอันดับแรกธนาคารจะส่งผลหนังสือทวงถามหนี้ (Notice) ไปยังลูกหนี้ เช่น ส่งข้อความ SMS ส่งจดหมาย หรือมีเจ้าหน้าที่โทรทวงถาม แต่หากปล่อยให้มีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน ธนาคารเจ้าของบัตรจะเปลี่ยนสถานะของผู้ถือบัตรจากลูกหนี้ปกติเป็นลูกหนี้ที่มีประวัติการค้างชำระหนี้ หรือก็คือติดเครดิตบูโร ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของผู้ถือบัตรลดลง ได้โอกาสรับการพิจารณาสินเชื่อหรือกู้เงินใหม่ลดลง
กลัวโดนฟ้องคดีหนี้บัตรเครดิต ต้องทำอย่างไร?
การมีข้อผิดพลาดทางด้านการเงินจนไม่สามารถจ่ายหนี้บัตรเครดิตได้ หรือกลัวว่าจะโดนฟ้องร้องดำเนินคดี ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะลูกหนี้สามารถเจรจากับสถาบันทางการเงินเพื่อหาทางออกเบื้องต้นได้ อาทิ การเลื่อนชำระหนี้ เปลี่ยนรอบบิล เป็นต้น ซึ่งหากเจรจาลงตัวและสามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมด ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลใดๆ
ในทางกลับกัน หากมีการทวงถามแล้วลูกหนี้ยังเพิกเฉย ไม่ดำเนินการใดๆ หรือไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารจึงจะส่งเรื่องฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อบังคับชำระหนี้ต่อไป
เป็นหนี้บัตรเครดิตโดนฟ้อง ควรเตรียมอะไรบ้าง?
เมื่อธนาคารหรือสถาบันทางการเงินตัดสินใจฟ้องร้องต่อศาล หมายศาลจะถูกส่งไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน โดยตามกฎหมาย ลูกหนี้หรือผู้ถูกฟ้องร้องจะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าตนไม่ได้รับหมายศาล ไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม เพราะถือว่าลูกหนี้ได้รับศาลแล้ว
โดยเมื่อโดนฟ้องหนี้บัตรเครดิตและมีหมายศาลส่งมาแล้ว สิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติ คือ
1.อ่านรายละเอียดในหมายศาล
ให้ทบทวนรายละเอียดที่ระบุในหมายศาลทั้งหมด ทั้งหมายเลขคดี ศาลที่ฟ้อง และพิจารณาว่ารายละเอียดเกี่ยวกับหนี้ที่ระบุในศาลเป็นจริงหรือไม่ มีรายการที่ไม่ตรงกับสัญญาหรือเปล่า
2.จ้างทนายไกล่เกลี่ยในชั้นศาล
เมื่อแน่ใจแล้วว่าต้องเข้าไปดำเนินคดีต่อในชั้นศาล สิ่งที่ต้องทำต่อมา คือ การจ้างทนายผู้มีความรู้ทางกฎหมายเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเรา รวมถึงช่วยเหลือในเรื่องเอกสารข้อตกลงต่างๆ อีกทั้งช่วยต่อรองกับศาลเพื่อหาวิธีการชำระหนี้ที่ลงตัวที่สุด
นอกจากนี้ ในกรณีที่คดีความหนี้บัตรมีความซับซ้อน อาทิ เจ้าของบัตรไม่ใช่ผู้ก่อหนี้เอง การจ้างทนายไกล่เกลี่ยนับเป็นตัวช่วยให้เราได้รับความยุติธรรมมากขึ้น
3.เตรียมเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
แน่นอนว่าก่อนขึ้นศาล จำเป็นต้องเตรียมเอกสารต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ อาทิ บัตรประชาชน หากมีผู้ค้ำประกัน หรือมีการมอบอำนาจ ก็จำเป็นต้องมีสำเนาบัตรประชาชนผู้ค้ำประกันหรือหนังสือมอบอำนาจ รวมไปถึงเอกสารแสดงความสามารถในการชำระหนี้ เช่น เอกสารแสดงรายรับรายจ่าย เอกสารเกี่ยวกับภาระหนี้สินปัจจุบัน และเอกสารเกี่ยวกับภาระการดูแลคนในครอบครัวจะสามารถนำไปใช้ในการต่อรองวิธีชำระหนี้ได้
ส่วนในกรณีที่ไม่ได้ก่อหนี้เอง มีผู้อื่นนำบัตรเครดิตที่เป็นชื่อของผู้ถูกฟ้องร้องไปใช้ ก็สามารถนำหลักฐานยืนยันมาใช้ เช่น ประวัติแชทการขอยืมบัตร บันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือใบแจ้งความในกรณีที่บัตรเครดิตถูกขโมย
4.หลักฐานยืนยันขาดอายุความ
ในกรณีที่คดีขาดอายุความ แต่มีการฟ้องร้องต่อ ลูกหนี้สามารถนำหมายศาลที่หมดอายุความแล้วมาต่อสู้ในชั้นศาล เพื่อปฏิเสธไม่ชำระหนี้ได้ ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา ๑๙๓/๒๙

โดนฟ้องบัตรเครดิตไม่ไปศาล มีโทษไหม?
หลังได้รับหมายศาลแล้ว ก็ควรไปศาลเพื่อให้ความร่วมมือในการดำเนินคดี แม้ว่าจะไม่มีเงินใช้หนี้ก็ตาม โดยในฐานะ “จำเลย” ควรแสดงตัวเข้าไปรับฟังการประนีประนอมตั้งแต่นัดแรก เพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าไม่มีเจตนาหนีหนี้ นอกจากนี้ ลูกหนี้ยังมีสิทธิยื่นขออุทธรณ์ได้ภายในเวลา 1 เดือนนับแต่มีคำพิพากษา เพื่อเลื่อนการบังคับคดีหรือขอให้พิจารณาเงื่อนไขการชำระเงินใหม่ได้ ซึ่งอาจเปลี่ยนจากการจ่ายเงินก้อนเป็นการผ่อนชำระแทนได้
ส่วนในกรณีที่ไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือผิดนัดไม่ไปศาล ศาลสามารถตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์มาชำระหนี้ได้ ดังนี้
1.ยึดทรัพย์อันเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้
โดยทรัพย์ที่สามารถยึดได้ คือ สังหาริมทรัพย์ อาทิ ทองคำ รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ อาทิ ที่ดิน บ้าน คอนโด โดยเจ้าหนี้จะอายัดทรัพย์ได้เป็นเวลา 10 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และถ้าลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญาต่อศาล ทรัพย์สินที่ถูกยึดจะถูกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้นั้นต่อไป แต่หากลูกหนี้พยายามโอนทรัพย์สินเป็นชื่อผู้อื่นหรือซุกซ่อน จะถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๐ โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.อายัดเงินเดือน ค่าตอบแทน และเงินชดเชย
ศาลสามารถบังคับอายัดเงินได้ในอัตราที่กฎหมายกำหนด ได้แก่
- เงินเดือน ที่อายัดได้ต้องมากกว่า 20,000 บาท และอายัดได้ไม่เกิน 30% โดยต้องเหลือไม่น้อยกว่าเดือนละ 20,000 บาท ทั้งนี้ไม่สามารถอายัดเงินเดือนข้าราชการได้
- ค่าตอบแทนและเงินสงเคราะห์ตามสวัสดิการ สามารถอายัดได้ไม่เกิน 30%
- เงินโบนัส สามารถอายัดได้ไม่เกิน 50%
- เงินชดเชยกรณีถูกให้ออกจากงาน สามารถอายัดได้โดยต้องเหลือให้ลูกหนี้ไม่น้อยกว่า 300,000 บาท
ทั้งนี้เจ้าพนักงานไม่สามารถอายัดเงินเบี้ยเลี้ยงชีพ อย่างเบี้ยคนชรา เบี้ยคนพิการ เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ รวมไปถึงเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้
3.ยึดทรัพย์สินที่ได้รับหลังการพิพากษา
เช่น ทรัพย์สินมรดก เงินปันผลจากการลงทุน หรือเงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิต
เมื่อถูกอายัดเงินเดือน ลูกหนี้ยังมีสิทธิยื่นคำร้องขอลดจำนวนเงินเดือนที่อายัดได้ไม่เกิน 50% ของจำนวนเงินที่ศาลสั่งให้อายัดในคำพิพากษาเดิม โดยต้องแนบเอกสารรับรองเงินเดือน รวมไปถึงเอกสารค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าผ่อนรถ ค่าผ่อนบ้าน ค่าดูแลผู้สูงอายุ หรือค่าเทอมลูก เป็นต้น ซึ่งศาลจะพิจารณาลดอายัดตามที่เห็นสมควร และเงินอายัดใหม่ตามความเห็นชอบของเจ้าหนี้และลูกหนี้
เจ้าหนี้สามารถอายัดได้ต่อเนื่องเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี หรือจนกว่าหนี้ตามคำพิพากษาจะถูกชำระครบถ้วน ซึ่งหลังจากหมดหนี้แล้ว เจ้านี้สามารถส่งหนังสือขอถอนอายัดเงินเดือนต่อศาลได้
การเป็นหนี้บัตรเครดิตแล้วโดนฟ้องอาจเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่หากเกิดขึ้นแล้วก็สามารถจัดการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผ่านการเจรจา ไกล่เกลี่ย และวางแผนการเงินไม่ให้เกิดหนี้สะสมขึ้นอีกในอนาคต สุดท้ายนี้ แน่นอนว่าความช่วยเหลือจากทนายผู้เชี่ยวชาญในข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเงินสามารถช่วยให้ลูกนี้สามารถหาทางออกที่ดีที่สุดได้ ทาง THAC สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสัญญาการชำระหนี้ พร้อมให้บริการประนอมข้อพิพาททางเลือกเพื่อระงับข้อพิพาทอย่างสันติและลงตัวกับทั้งสองฝ่าย
เกี่ยวกับ THAC
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ทาง
อีเมล: [email protected]