
มีหนี้ต้องรู้จักการไกล่เกลี่ยหนี้ ทางออกเมื่อเกิดปัญหาทางการเงิน

การเป็นหนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการหลีกเลี่ยงแต่อาจไม่สามารถทำได้ เพราะการสร้างบ้าน ซื้อรถยนต์ หรือแม้กระทั่งการเริ่มต้นทำธุรกิจล้วนต้องมีการขอสินเชื่อเพื่อลงทุน ซึ่งในปัจจุบันหนี้ของคนไทยมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้น โดยจากสถิติของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อปลายปี 2566 พบหนี้ครัวเรือนไทยสูงถึง 16.2 ล้านล้านบาท หากคำนวณเป็นระดับหนี้เมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ จะอยู่ที่ 90.9% เลยทีเดียว และด้วยภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้ลูกหนี้หลายรายไม่สามารถชำระหนี้หรือชำระได้ตรงเวลา จนเกิดเป็นหนี้เสีย และอาจถึงขั้นเกิดการฟ้องร้องจากเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินในที่สุด
เมื่อเกิดข้อขัดข้องดังกล่าว หนึ่งในทางออกที่ลูกหนี้สามารถทำได้คือ ขอไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อหาแนวทางร่วมกับเจ้าหนี้ในการชำระหนี้คงเหลือและดอกเบี้ยผิดนัดต่อไป
ทำความรู้จัก การไกล่เกลี่ยหนี้
การไกล่เกลี่ยหนี้ คือ กระบวนการตรวจสอบและหาหนทางยุติความขัดแย้ง โดยการที่คู่พิพาท ได้แก่ เจ้าหนี้และลูกหนี้ร่วมหาทางออก โดยมีบุคคลที่สามเรียกว่า “ผู้ไกล่เกลี่ย” มาเป็นคนกลางที่คอยช่วยเหลือ เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา และอำนวยความสะดวกในกระบวนการดังกล่าว ซึ่งผู้ไกล่เกลี่ยจะไม่มีส่วนในการตัดสิน ต้องมีความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
เนื่องจากการผิดชำระหนี้ ถือเป็นการกระทำผิดสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เจ้าหนี้สามารถดำเนินการฟ้องร้องคดีเพื่อบังคับชำระหนี้ได้ อย่างไรก็ตาม หากลูกหนี้รู้ตัวว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามงวดที่ระบุในหนังสือสัญญา หรือจ่ายไม่ครบตามจำนวนก็สามารถไกล่เกลี่ย ซึ่งช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ไปกับการดำเนินคดีในชั้นศาล รวมถึงช่วยรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้
การขอไกล่เกลี่ยหนี้ สามารถทำได้ตอนไหน
1. ไกล่เกลี่ยหนี้ก่อนบังคับคดี
การไกล่เกลี่ยหนี้ก่อนบังคับคดีเป็นการแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยขึ้นเพื่อให้คู่พิพาท (เจ้าหนี้และลูกหนี้) ได้แสดงถึงความต้องการของแต่ละฝ่าย พร้อมร่วมหาทางออกที่ลงตัวกับทั้งสองฝ่าย ยุติข้อพิพาทก่อนเข้าสู่กระบวนการทางศาล โดยสามารถที่จะจัดการไกล่เกลี่ยได้เอง ไกล่เกลี่ยผ่านสถาบันอนุญาโตตุลาการ หรือยื่นคำร้องแสดงความประสงค์ต่อศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกรมบังคับคดี ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายสามารถประนีประนอมได้ ก็จะถือว่าคดียุติ ไม่มีการบังคับคดีแต่อย่างใด
2. ไกล่เกลี่ยหนี้ชั้นบังคับคดี
ช่วงการไกล่เกลี่ยหนี้ชั้นบังคับคดี จะเกิดขึ้นหลังจากลูกหนี้และเจ้าหนี้เข้าสู่กระบวนการทางศาลแล้ว โดยผู้พิพากษาอาจแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ย เพื่อมาอำนวยความสะดวกให้กับคู่พิพาทในการหาข้อตกลงร่วมกัน หากสำเร็จ ก็จะนำไปสู่การถอนฟ้อง และทำสัญญาประนีประนอมตามตกลง ซึ่งถือเป็นการลดกระบวนการและภาระของศาลไปพร้อมกัน
โดนหนังสือบังคับคดี ต้องทำไง
ในทางกฎหมาย เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ ฝ่ายเจ้าหนี้สามารถร้องต่อศาลให้ส่งหนังสือบังคับคดีไปยังลูกหนี้ได้ ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ เจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินจะยังไม่ฟ้องร้องในทันที แต่จะส่ง “หนังสือทวงถามหนี้” (Notice) โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้และดอกเบี้ยตามกำหนด แต่หากลูกหนี้ยังคงไม่ชำระหนี้เป็นเวลามากกว่า 3 เดือน เจ้าหนี้ก็จะดำเนินการทางศาล ส่งหนังสือบังคับคดีเพื่อบังคับชำระหนี้ต่อไป
ดังนั้น ลูกหนี้ที่ได้รับหนังสือทวงถามหนี้จึงไม่ควรเพิกเฉย ให้ติดต่อไปยังเจ้าหนี้เพื่อไกล่เกลี่ยและประนีประนอมผ่อนผันให้กันและกัน เช่น ขอชำระหนี้ในภายหลัง พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนด หรืออาจขอผ่อนชำระหนี้แทน
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่โดนหนังสือบังคับคดี จะต้องพิจารณาข้อสำคัญดังต่อไปนี้
• พิจารณาว่าได้ก่อหนี้ขึ้นจริงตามที่ระบุในหมายศาลหรือไม่
โดยทั่วไป หากเป็นหนี้ที่ก่อขึ้นเองจริง ให้ดูรายละเอียดว่าถูกฟ้องร้องที่ศาลไหน หนี้อะไร เพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนอีกกรณีหนึ่ง หากเป็นหนี้ที่เราไม่ได้ก่อขึ้นเอง เช่น หนี้บัตรเครดิตในนามลูกหนี้ที่เกิดจากบุคคลอื่น อย่างเพื่อนหรือคนรู้จักที่นำบัตรเครดิตเราไปใช้จ่าย เราสามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบ หรือเรียกให้บุคคลดังกล่าวเข้ามารับผิดร่วมกันได้
• พิจารณาว่าต้องมีทนายหรือไม่
หากเป็นหนี้ทั่วไปที่มีจำนวนเงินแน่นอน อาทิ หนี้บัตรเครดิต หนี้กู้ยืมเงิน หรือสินเชื่อ อาจไม่จำเป็นต้องมีทนายความในนัดแรกของศาล เนื่องจากนัดแรกจะเป็นการไกล่เกลี่ย โดยศาลจะทำหน้าที่เป็นคนกลาง ช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อระงับคดีโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้จะต้องมีแนวทางไว้สำหรับเจ้าหนี้ว่าจะดำเนินการชำระหนี้อย่างไร ในอีกกรณีหนึ่ง หากลูกหนี้มีข้อต่อสู้เพื่อปฏิเสธไม่ชำระหนี้ เช่น จำนวนหนี้ที่เรียกไม่ตรงกับหนี้จริง หรือมีบุคคลอื่นเป็นผู้ก่อหนี้ อาจต้องมีทนายความเพื่อช่วยเตรียมหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปยื่นให้แก่ศาลและดำเนินการสู้คดี
หากขาดศักยภาพในการจ่ายหนี้ จะเกิดอะไรขึ้น
เมื่อพบว่าลูกหนี้ขาดความสามารถหรือไม่มีเงินในการชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิในการฟ้องร้องต่อศาล โดยอาจมีคำพิพากษายึดอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ แม้จะไม่มีทรัพย์สินใดให้อายัด ณ ตอนนั้น แต่หากภายหลัง ลูกหนี้ได้ทรัพย์สิน เช่น มรดก ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือได้เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิต ก็สามารถถูกเจ้าหนี้บังคับยึดได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคำพิพากษาจากศาลแล้ว การไกล่เกลี่ยระหว่างคู่พิพาทก็ยังคงทำได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของฝ่ายเจ้าหนี้ด้วยว่า จะพิจารณาประนีประนอมหรือไม่
สรุป เมื่อได้ก่อหนี้ขึ้นแล้ว ลูกหนี้ย่อมมีความรับผิดชอบที่ต้องชำระหนี้ทางกฎหมาย หากพิจารณาแล้วว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ทันกำหนดหรือครบจำนวน ก็ควรติดต่อเจ้าหนี้โดยเร็วที่สุด เพื่อไกล่เกลี่ยหนี้และหาทางออกที่ลงตัวแก่ทั้งสองฝ่าย ซึ่งนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาที่อาจต้องใช้ไปกับกระบวนการทางศาลแล้ว ยังช่วยเก็บรักษาข้อมูลสำคัญระหว่างกันโดยไม่ต้องเปิดเผยสู่สาธารณะ อีกทั้งยังช่วยรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ด้วย
โดยทางสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) มีบริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทซึ่งเป็นกระบวนการยุติข้อพิพาทนอกศาล สามารถช่วยท่านไกล่เกลี่ยหนี้ และช่วยแนะแนวทางข้อตกลงที่ยุติธรรมกับคู่พิพาท สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
เกี่ยวกับ THAC
สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) หรือ THAC เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการที่มีความเป็นอิสระและมีมาตรฐานสากล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญทางวิชาชีพ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มาใช้บริการจะได้รับบริการที่ถูกต้องรวดเร็ว อีกทั้ง THAC ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้สะดวกสบายในการเดินทาง และมีอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
สนใจติดต่อ THAC ได้ทาง
อีเมล: [email protected]